วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ธ.ค.นี้รฟท.เข้าพื้นที่รื้อบ้านผู้บุกรุกสร้างรถไฟฟ้าบางซื่อ-รังสิต

เดลินิวส์ออนไลน์ วันพุธ ที่ 28 ตุลาคม 2552 เวลา 8:13 น

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่า ภายในเดือน ธ.ค.นี้ รฟท.จะเริ่มรื้อย้ายอาคาร สิ่งปลูกสร้างของผู้ที่บุกรุกในแนวเส้นทางรถไฟในโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต ทั้งนี้คาดว่าจะกำหนดให้ผู้รับเหมามายื่นเอกสารประกวดราคาได้ภายในเดือน พ.ย. 2552 เพื่อเริ่มการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างได้ภายในเดือน ธ.ค. 2552

ทั้งนี้การดำเนินการกับผู้บุกรุก เป็นไปตามเงื่อนไขขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นหรือไจก้า ที่ต้องการให้ผู้ที่รับผิดชอบการรื้อย้ายผู้บุกรุกเป็นคนละรายกับเอกชนที่ ดำเนินการก่อสร้างโครงการ และสามารถเริ่มการก่อสร้างได้โดยมีพื้นที่ที่ผู้รับเหมาสามารถเริ่มการก่อ สร้างได้ โดยไม่ให้เกิดปัญหาผลกระทบไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ภายหลัง โดยมีงบ 70 ล้านบาท สำหรับจ้างเอกชนและจ่ายค่ารื้อย้ายชาวบ้าน ประมาณ 1,200 ราย

สำหรับความคืบหน้าในการจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการขณะนี้ รฟท.อยู่ระหว่างขออนุมัติไจก้าเห็นชอบเงื่อนไขการดำเนินโครงการโดยแบ่งการ ประกวดราคาเป็น 3 สัญญา ประกอบด้วย

1. งานโยธา 2 สัญญา คือ
1.1 สัญญาที่ 1 สถานีรถไฟบางซื่อ รวมอาคารซ่อมบำรุง
1.2 สัญญาที่ 2 โครงสร้างยกระดับ บางซื่อ-รังสิต รวมสถานีรายทาง 8 สถานี และ
2. สัญญาที่ 3 งานสัญญาวางรางและระบบรถไฟฟ้า

รวม 3 สัญญา มูลค่าโครงการประมาณ 75,000 ล้านบาท.

รฟท.ตีปี๊บโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต เริ่มก่อสร้างปลายปี 53

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 15 กันยายน 2552 11:25 น.


รฟท.ตีปี๊บโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 ก.ม. มูลค่า 6 หมื่นล้าน เตรียมเปิดประมูล ต.ค.นี้ คาดได้ผู้รับเหมาปลายปีหน้า เผยญี่ปุ่นไฟเขียวงานโยธา 2 สัญญาแรก บ.ไทย เป็นแกนนำการก่อสร้างได้

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เผยความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต โดยคาดว่า ขั้นตอนการประมูลต่างๆ จะเสร็จสิ้น และได้ผู้รับเหมาประมาณปลายเดือนกันยายน-ตุลาคม 2553 หลังจากที่ รฟท.เตรียมจะเปิดขายซองประมูลในเดือน ตุลาคม 2552 โดยจะประกาศเปิดประมูลพร้อมกันทั้ง 3 สัญญา

นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการ รฟท. ระบุว่า องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ได้แจ้งยืนยันคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลทั้ง 3 สัญญา เข้ามาแล้ว โดยเปิดโอกาสให้ 2 สัญญาแรก ซึ่งเป็นงานด้านโยธา อนุญาตให้บริษัทไทย เป็นแกนนำในการก่อสร้างงานโยธา

ส่วนอีก 1 สัญญาที่เป็นงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ทาง JICA ระบุให้เป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งมีเฉพาะบริษัทต่างชาติที่เข้าตามเงื่อนไข ดังนั้น รฟท.จึงขอปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์คุณสมบัติบริษัทที่เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ เพื่อบริษัทไทยจะได้เข้าร่วมได้

นายยุทธนา กล่าวว่า รฟท.จะนำคำยืนยันของ JICA เสนอคณะกรรมการ รฟท.ภายในเดือนกันยายน 2552 นี้ และหลังจากนั้นจะเปิดขายซองประมูลได้พร้อมกันทั้ง 3 สัญญา ในเดือนตุลาคม 2552 นี้

"ยืนยันว่า เดือนตุลาคมนี้ รฟท.จะเปิดขายซองได้ และคาดว่า จะเปิดประมูลพร้อมกันทั้ง 3 สัญญา ขั้นตอนจากนี้จะเสร็จสิ้นภายใน 15 เดือน หรือสิ้นสุดประมาณปลายเดือนกันยายน-ตุลาคม 2553"

ทั่งนี้ การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร มูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 3 สัญญา ประกอบด้วย

สัญญาที่ 1 งานก่อสร้างสถานีบางซื่อ และศูนย์ซ่อมบำรุง
สัญญาที่ 2 งานโยธาแนวเส้นทาง และ
สัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) และงานระบบไฟฟ้าสายบางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยให้ผู้เข้าแข่งขันยื่นเอกสารพร้อมกัน 3 ซอง คือ คุณสมบัติเบื้องต้น เทคนิคก่อสร้าง และราคา

สายสีแดง "บางซื่อ-รังสิต" วุ่น รับเหมาแย่งเค้กฝุ่นตลบ

ประชาชาติธุรกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 4128 วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552



เริ่มแรกทำท่าจะราบรื่น แต่สุดท้ายงานประมูลก่อสร้าง "รถไฟชานเมืองสายสีแดง" ช่วงบางซื่อ-รังสิต วงเงินกว่า 7 หมื่นล้านบาท อภิมหาโปรเจ็กต์ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เค้กชิ้นใหญ่วงการรับเหมาก่อสร้าง ก็ล่มไปไม่เป็นท่า จำต้องเลื่อนการพีคิว (คัดเลือกคุณสมบัติเบื้องต้น) ออกไปไม่มีกำหนด

ทั้งที่ ร.ฟ.ท.เพิ่งปิดการขายเอกสารสัญญาที่ 3 งานไฟฟ้าและเครื่องกลหมาดๆ วันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีผู้มาซื้อเอกสาร 51 ราย และดีเดย์ประกาศขายเอกสารพีคิวสัญญาที่ 1 งานโยธาสถานีบางซื่อ และศูนย์ซ่อมบำรุง และสัญญาที่ 2 งานโยธาทางรถไฟบางซื่อ-รังสิต ต่อทันที ในวันที่ 16-31 กรกฎาคม 2552 หลังองค์การเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ไฟเขียว

ก่อนหน้านี้วันที่ 13 กรกฎาคม คณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ได้เรียกประชุมด่วน และมีมติให้ ร.ฟ.ท.เจรจากับไจก้า ขอปรับปรุงเงื่อนไขทีโออาร์โครงการนี้ใหม่ โดยไม่ให้รับเหมาต่างชาติเข้าประมูลเดี่ยวๆ ต้องจอยต์เวนเจอร์กับบริษัทรับเหมาไทยด้วย

"ทีโออาร์เดิมแม้ไม่ระบุชัดว่าให้รับเหมาไทยกับต่างชาติจอยต์เวนเจอร์กัน แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีรับเหมาต่างชาติมายื่นประมูลแบบเดี่ยวๆ เลย ส่วนใหญ่จะจับมือกับรับเหมาไทย การที่บอร์ดการรถไฟฯสั่งให้ชะลอโดยอ้างเหตุผลอย่างที่ว่า ดูแล้วมีนัยอย่างอื่นมากกว่า เพราะของเดิมประมูลได้เฉพาะรับเหมารายใหญ่ๆ เท่านั้น" แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.ตั้งข้อสังเกต

แฉยังจัดโผไม่ลงตัว

ท่ามกลางข้อกังขา มีเสียงร่ำลือถึงที่มาของการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทีโออาร์ว่า เบื้องหลังมีระดับบิ๊ก "การเมือง-ข้าราชการ" พยายามใช้กำลังภายในผลักดันรับเหมาในก๊วนของตัวเองร่วมวงแชร์เค้กก้อนนี้ หลังตรวจสเป็กร่างทีโออาร์แล้ว พบว่าเงื่อนไขเดิมไม่เอื้อเพราะคุณสมบัติ ไม่ถึง อาทิ กำหนดให้ต้องมีรายได้รวม 3 ปี มูลค่า 30,000 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 10,000 ล้านบาท ต้องมีผลงานโครงสร้างทางยกระดับ 10 ปี มูลค่า 1,000 ล้านบาทต่อสัญญา สถานะการเงิน ฯลฯ

ที่ผ่านมาก็มีความพยายามให้ ร.ฟ.ท.รับหน้าเสื่อต่อรองกับไจก้า ขอซอยงานประมูลจาก 3 สัญญา เป็น 5 สัญญา มาครั้งหนึ่งแล้ว เพื่อให้วงเงินแต่ละสัญญาน้อยลง ง่ายต่อการกำหนดคุณสมบัติ แต่ไม่เป็นผลเพราะไจก้าไม่เห็นด้วย

จึงให้ ร.ฟ.ท.คุยกับไจก้าอีกรอบ เที่ยวนี้ขอปรับเงื่อนไขทีโออาร์ใหม่ ให้ผ่อนปรนและเปิดกว้างมากขึ้น เพื่อเปิดทางให้รับเหมารายกลางทั้ง ยูนิค-ทิพากร-สหวิศวก่อสร้าง-ซินเทค-เนาวรัตน์พัฒนาการ-คริสเตียนี หรือแม้แต่ 5 เสือกรมทางอย่าง กรุงธน-วิจิตรภัณฑ์ สามารถเข้าประมูลได้

ไม่ขีดวงจำกัดเฉพาะรับเหมาในตลาดหลักทรัพย์ฯที่เป็น "บิ๊กทรี" ของวงการ อย่าง "บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์-บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น" อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังจัดโผไม่ลงตัว

ไม่พ้นมือ ITD-ช.การช่าง-ซิโน-ไทยฯ

แม้จะปรับเปลี่ยนเงื่อนไขทีโออาร์วงการรับเหมาก่อสร้างก็ยังฟันธงว่าคงหนี ไม่พ้น รับเหมาแถวหน้า 3 ราย คือ อิตาเลียนไทยฯ ช.การช่าง และซิโน-ไทยฯที่จะได้งานทั้ง 3 สัญญา เพราะมีประสบการณ์อยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าใครจะจับมือหมั้นหมายกับใคร ขณะที่บริษัทรายกลางมีแต่ประสบการณ์งานสร้างทางยกระดับ ทางด่วน

ส่วน "ยูนิค" แม้จะได้งานรถไฟสายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน แต่ยังก่อสร้าง ไม่แล้วเสร็จ จึงไม่น่านำมาเป็นผลงานได้ อีกทางเลือกหนึ่งคือต้องจอยต์เวนเจอร์กับรับเหมาที่มีประสบการณ์งานวางราง เช่น เอ.เอส. แอสโซซิเอท เป็นต้น

"โดยเฉพาะอิตาเลียนไทยฯตอนนี้อยากได้งานมาก เพราะพลาดหวังโครงการสายสีม่วง จะรอสายสีเขียวก็ยังไม่รู้ว่าจะเปิดประมูลเมื่อไหร่ เมื่องานใหญ่มารอตรงหน้าก็ต้องคว้าไว้ก่อน" แหล่งข่าวจากวงการ รับเหมาก่อสร้างกล่าว

"ว่ากันว่าอิตาเลียนไทยฯหมายตางานสัญญาที่ 1 งานอาคารสถานีบางซื่อและศูนย์ซ่อม เพราะเคยสร้างสนามบินสุวรรณภูมิมาแล้ว ส่วนสัญญาที่ 2 น่าจะเป็นของ ช.การช่าง หรือซิโน-ไทยฯ ส่วนสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ผู้รับเหมาไทยเข้าไม่ได้อยู่แล้ว น่าจะเป็นการร่วมกันระหว่างรับเหมาไทย ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งมี 6 รายที่เป็นขาใหญ่ คือ บอมบาดิเยร์ ซีเมนส์ อัสสตรอม มิตซูบิชิ มิตซุย และอัลซาโด้"

ร.ฟ.ท.ขอยกเว้นไม่อีออกชั่น

ด้าน "ยุทธนา ทัพเจริญ" ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ระหว่างรอไจก้าอนุมัติ ได้ขอทางคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ ยกเว้นไม่ใช้วิธีเปิดประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีออกชั่น กับรถไฟฟ้าสายสีแดง จะขอเปิดประมูลแบบทั่วไปเหมือนสายสีม่วง เพื่อความรวดเร็ว ตั้งเป้าว่าปลายเดือนสิงหาคม หรือต้นเดือนกันยายนนี้จะประกาศประกวดราคา จากนั้นจะใช้เวลาก่อสร้างอีก 4 ปี

เพิ่มสถานีบางกรวยรถไฟฟ้าสีแดง เชื่อมน้ำเงิน-ม่วง-ส้ม-ผุดโลคอลโรดยาวตลอดแนว

ประชาชาติธุรกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 4126 วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

สนข.เตรียมชง ครม.ขอเงินเพิ่ม 1 พันล้านบาท ผุดสถานีรถไฟชานเมือง สายบางซื่อ-ตลิ่งชัน เพิ่มอีก 1 สถานี บริเวณบางกรวย กึ่งกลางระหว่างสถานีบางบำหรุ-บางซ่อน คน กฟผ.-เทศบาลเมืองบางกรวยผนึกกำลังผลักดันรองรับการเดินทางของพนักงานอีแกต (กฟผ.) และชาวบ้านในพื้นที่ เผยจุดที่สถานีอยู่เชิงสะพานพระราม 7 ฝั่งธนบุรี


นาง สร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ทำหนังสือหารือมายัง สนข.เพื่อให้พิจารณาก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน เพิ่มขึ้นอีก 1 สถานี จากเดิมมี 3 สถานี หลังจากที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และเทศบาลเมืองบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ทำหนังสือถึง ร.ฟ.ท.ขอให้ก่อสร้างสถานีขึ้น-ลงในบริเวณดังกล่าวพิ่มเติม บริเวณเชิงสะพานพระราม 7 ฝั่งธนบุรี ช่วงกึ่งกลางระหว่างสถานีบางบำหรุกับสถานีบางซ่อน เพื่อรองรับการใช้บริการของพนักงาน กฟผ.และประชาชนทั่วไปที่อยู่อาศัยและทำงานในบริเวณใกล้เคียง

ขณะนี้ สนข.กำลังให้บริษัทที่ปรึกษาศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการออกแบบ สถานีและการจัดทำรายงานการ วิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีแนวโน้มว่าน่าจะก่อสร้างสถานีได้เพิ่มตามข้อเสนอ เนื่องจากพื้นที่บริเวณบางกรวยมีคนอยู่อาศัยและสัญจรไปมาจำนวนมาก ทั้งในโครงการบ้านจัดสรรและพนักงาน กฟผ. สำหรับวงเงินสำหรับใช้ก่อสร้างก็มีพร้อมอยู่แล้ว เป็นวงเงินที่เหลือจากการประมูลก่อสร้าง เพราะใช้ไปแค่ 9,000 ล้านบาท ยังเหลืออยู่อีก 4,000 ล้านบาท จากทั้งหมดที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติกรอบวงเงินมาให้ 13,133 ล้านบาท

นางสร้อยทิพย์กล่าวว่า หลังศึกษาและจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้เสร็จเรียบร้อย จะเสนอเรื่องทั้งหมดให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา จากนั้นจะเสนอ ครม. อนุมัติเพิ่มเติม เนื่องจาก ครม.เป็นผู้อนุมัติกรอบวงเงินก่อสร้าง หาก ครม.เห็นชอบคาดว่าจะใช้เงินก่อสร้างสถานีเพิ่มเติม ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท สูงกว่าปกติที่วงเงินก่อสร้างอยู่ระดับ 400-500 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากด้านกายภาพของที่ตั้งสถานี ที่อยู่ใกล้กับสะพานพระราม 7 เงินค่าก่อสร้างเพิ่มเติมไม่น่าจะเกิน 1,000 ล้านบาท เพราะใน 1 สถานีจะใช้เงินค่าก่อสร้างประมาณ 400-500 ล้านบาท แต่สถานีบางกรวยอาจจะพิเศษกว่าสถานีอื่น เพราะที่ตั้งใกล้กับสะพานพระราม 7 ทำให้ต้องออกแบบโครงสร้างสถานีสูงกว่าปกติ

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของ กฟผ.หากสร้างสถานีเพิ่มเติมบริเวณบางกรวยจะรองรับพนักงาน กฟผ.และบุคคลภายนอกที่เข้าไปติดต่องานที่ กฟผ.ประมาณ 10,000 คน/วัน ขณะที่นายกเทศมนตรีเมืองบางกรวยระบุตัวเลขว่าจะมีผู้ใช้บริการถึง 450,000 คน โดยเฉพาะประชาชนย่านบางกรวยและพื้นที่ใกล้เคียงที่เดินทางสัญจรไปมาแต่ละวัน สูงถึง 100,000 คน ที่สำคัญจุดขึ้นลงบริเวณสถานีบางกรวยจะสามารถเชี่อมต่อกับโครงข่ายระบบขนส่ง รูปแบบอื่นได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือ รถประจำทางที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน แนวเส้นทางเดิมที่อยู่ระหว่างก่อสร้างมีทั้งหมด 3 สถานี คือสถานีบางซ่อน สถานีบางบำหรุ และสถานีตลิ่งชัน แต่ละสถานีจะเป็นจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนทางอื่น โดยสถานีบางซื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-หัวลำโพง) สถานีบางซ่อนเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) และสถานีบางบำหรุเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้มที่จะก่อสร้างในอนาคต

นอก จากนี้พื้นที่ด้านล่างจะสร้างถนนเลียบทางรถไฟ 2 ข้างทางตลอดแนว แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือช่วงที่ 1 เริ่มต้นบริเวณถนนประชาชื่นวิ่งเลียบด้านซ้ายของทางรถไฟปัจจุบันไปสิ้นสุด ก่อนข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนประชาราษฎร์สาย 1 ส่วนช่วงที่ 2 เริ่มต้นที่บริเวณถนนจรัญสนิทวงศ์วิ่งเลียบ 2 ข้างทางรถไฟผ่านสถานีบางบำหรุตลิ่งชันไปสิ้นสุดบริเวณถนนสวนผัก ก่อนถึงสถานีบ้านฉิมพลี เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2552 ที่ผ่านมา ขณะนี้มีความคืบหน้า 1.8%

เฮือกสุดท้าย"ตลาดบางซ่อน"ก่อนตาย


ตลาดบางซ่อน" อายุกว่า 30 ปี ตื่นรับอรุณอย่างคึกคักวันนี้เงียบเหงา แหล่งรวมอาหารพื้นบ้านจากทุกภาค อีกไม่นานจะเหลือเพียงชื่อ

"ตลาดบางซ่อน"หลบอยู่หลังตึกแถวที่ตั้งเรียงราย ริมทางรถไฟ ถนนกรุงเทพฯ-นนทบุรี ตลาดเก่าแก่อายุกว่า 30 ปี เช่าที่รถไฟเปิดขายของ เริ่มตั้งแต่แบกะดินจนกระทั่งมีอาคารถาวร ทุกๆเช้าจะมีพ่อค้าแม่ค้าจากเมืองนนท์และจังหวัดใกล้เคียงบรรทุกผัก ปลา สารพัดสินค้าพื้นบ้านมาวางจำหน่ายแตกต่างจากตลาดทั่วไป

ของบางอย่างมาไกลจากอีสานก็มีบางคนถึงกับออกปากว่า "ตลาดลาว" มีผักหน้าตาแปลกๆที่คนกรุงไม่ค่อยคุ้นเคยหรือแมลงและสัตว์ที่นำมาขายก็ต่าง ออกไป แม่ค้าชาวกาฬสินธุ์ น.ส.สมดี ดอนประจง วัย 45 ปี แม่ค้าขายผักและมีสัตว์ชนิดต่างๆรวมทั้ง แมลงวางไว้เต็มแผงแต่ที่ดูจะคับแคบไปจึงตั้งไว้กับพื้นบ้าง

แม่ค้าอธิบายถึงที่มาของผัก ปลา สัตว์ แมลงต่างๆว่า "ต้องขับรถไปขนมาจากกาฬสินธุ์ วันเว้นวัน เที่ยวหนึ่งขายวันเดียวหมดหรือไม่หมดก็ต้องไปเอาของมาขายใหม่ เพราะของแบบนี้หายากในเมืองหลวง ส่วนใหญ่ก็อยู่ที่ตลาดคลองเตย แต่แถวนี้หายากไม่ค่อยมี"

จากนั้นแม่ค้าก็หยิบผักที่มัดเป็นกำๆและวางกองซ้อนกันมากมายหลายชนิดแนะนำ บอกชื่อวิธีการนำไปปรุงอาหารได้อย่างคล่องแคล่ว เริ่มจากผักติ้ว ยอดเป็นสีอิฐปนสีเขียวน่ารับประทานเอาไว้กินกับน้ำพริกจากนั้นก็ชี้ไปที่ผัก ผักแขยง หรือบางคนเรียก กะแยง เป็นพืชล้มลุก ลำต้นตั้งตรง อวบน้ำ สูงประมาณ 20 - 30 เซนติเมตร ใบรูปร่างกลมรี ปลายใบแหลม ใบออกทุกข้อตลอดลำต้น ออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน ไว้ใส่ในแกง และยังมีผักแปลกๆอีกหลายชนิดที่ไม่น่าจะกินได้แต่กินได้

"ฝักลิ้นฟ้า" แม่ค้าบอกพร้อมกับยกขึ้นมาอธิบายว่า กินเป็นผักเคียงกับป่น หรือน้ำพริกจิ้มต่าง ๆ โดยนำเอาฝักมาเผาไฟ หรือลวกน้ำร้อนก่อนรับประทาน เพื่อลดความขมที่มีอยู่ในฝักสด นอกจากนี้ยังมี เห็ด หอย แมลง หนอนไหม ปลาไหล ลูกอ๊อด และอีกสารพัดชนิดจัดวางเป็นพิพิธภัณธ์สัตว์บกสัตว์น้ำก่อนนำขึ้นโต๊ะ

นอกจากสินค้าที่อิมพอร์ตโดยตรงมาจากอีสานแล้วตลาดแห่งนี้ยังมีสินค้าพื้น เมืองอีกมากมายไม่ว่าจะเป็นผักผลไม้จากเมืองนนท์ มีดอกโสนที่ผึ้งกำลังรุมดอมดมเกสรแต่เสียดายที่ยังไม่ทันเห็นว่าแม่ค้า แย่งดอกโสนมาจากผึ้งด้วยวิธีไหนโดยไม่ถูกผึ้งต่อย วางใกล้ๆดอกขจร มีใบมะขามและผลมะขามอ่อนวางข้างๆ และปลาพื้นบ้านตากแห้งอีกหลายชนิดให้เลือกซื้อ

ชาวสวนยังขนเอากล้วย มะม่วง มะพร้าว จากสวนมาวางขายในราคาชาวบ้าน

บังเอิญได้พบกับ นายสมศักดิ์ ว่องไว เจ้าของตลาดบอกว่า น่าเสียดายที่ตลาดนี้คงอยู่อีกไม่ถึงสิ้นปีนี้เพราะว่ารถไฟต้องการเอาที่คืน ไปสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง "บางซื่อ-ตลิ่งชั่น" ซึ่งยังเหลือสัญญาเช่าอีก 5 ปี ตอนนี้ชาวชุมชนบางซ่อนเริ่มทยอยออกไปแล้วตลาดก็เงียบขึ้น นึกถึงอดีตตั้งแต่แบกะดินจนมีอาคารใหญ่โตแต่ก็ต้องไปอย่ดี ชาวบ้านแถวนี้ก็ต้องไปหาซื้อตลาดอื่นๆที่อยู่ใกล้ๆแทน แต่ตลาดนี้ก็มีทั้งของถูกของดีของแปลกของพื้นเมืองให้เลือกไม่ต่างกับตลาด ขนาดใหญ่ทั่วๆไป


น่าเสียดายที่อายุของตลาดบางซ่อนยังเหลืออีกไม่นานแต่พ่อค้าแม่ค้าที่นั้นก็ ไม่ท้อยังคงขายต่อไปเรื่อยๆต่อชีวิตให้กับตลาดชุมชนชาวบางซ่อนจนกว่าตลาดจะ หลับและวายไปในที่สุด

รถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน งบเว่อร์ รฟท.แฉสลัมบุกรุกอื้อ

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 29 มิถุนายน 2552 09:02 น.

ร.ฟ.ท.สั่งตรวจสอบงบโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง "บางซื่อ-ตลิ่งชั่น" เพิ่มขึ้นเว่อร์เกือบพันล้าน พร้อมปัญหาสลัมบุกรุกในพื้นที่ก่อสร้างกว่า 3 พันหลังคาเรือน อาจทำให้แผนล่าช้า เพราะปัญหารื้อย้ายส่อบานปลาย หลังเกิดกรณีฟ้องร้อง

นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อธิบดีกรมทางหลวง ในฐานะกรรมการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้าง รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยระบุว่า ขณะนี้โครงการดังกล่าวกำลังประสบปัญหาด้านเทคนิคก่อสร้าง เพราะเพิ่งตรวจพบว่า ปริมาณงานที่ต้องทำจริงมีมากกว่าที่ออกแบบไว้

ดังนั้น หากจะให้โครงการเดินหน้าต่อไป ร.ฟ.ท.ต้องหาเงินเพิ่ม คณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ที่มีนายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน จึงสั่งการให้ฝ่ายบริหารไปจัดจ้าง สถาบันการศึกษามาตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยให้เวลา 1 เดือน

ทั้งนี้ ผลการประเมินเบื้องต้นคาดว่า คงเพิ่มเงินอีกไม่ถึง 1,000 ล้านบาท และน่าจะอยู่ในกรอบวงเงิน 13,000 ล้านบาท ที่ คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติไว้ โดยช่วงประกวดราคา ร.ฟ.ท.ตั้งราคากลางไว้ที่ 8,748.40 ล้าบาท และผู้รับงาน คือ กลุ่มกิจการร่วมค้ายูนิค-ซุนวู จอยท์เวนเจอร์ (บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ และบริษัท CHUNWO CONSTRUCTION & ENGINEERING CO.,LTD) เสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง 1,000 บาท

"สำหรับงานก่อสร้างตอนนี้ไม่มีปัญหาอะไร ยูนิค-ซุนวู เขายังเดินหน้างานต่อ และเชื่อว่าเขามีศักยภาพ ทำงานได้ตามสั่งทั้งหมด เพียงแต่ว่าเราต้องหาเงินมาเพิ่มเท่านั้น ตอนนี้บอร์ดก็สั่งไปยังฝ่ายบริหารให้รีบตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นมาอย่างไร และหากต้องเพิ่มเงินจริงก็คงอยู่ที่หลักร้อยล้าน และคงไม่เกินกรอบ 13,000 ล้านที่ ครม.เคยอนุมัติไว้"

นอกจากปัญหาเนื้องานมากกว่าแบบก่อสร้างแล้ว ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ยังมีปัญหาเรื่องการรื้อย้ายพื้นที่ที่ใช้ในการก่อสร้างด้วย เพราะมีสิ่งปลูกสร้างและมีผู้บุกรุกเข้าไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ถึง 3,084 หลังคาเรือน จนเกิดกรณีฟ้องร้อง โดยนายสุพจน์ กล่าวว่า ล่าสุดกลุ่มยูนิค-ซุนวู เพิ่งดำเนินการรื้อย้ายไปเพียง 10% เท่านั้น แต่ผู้รับงานยังเชื่อว่าจะทำการรื้อย้ายได้เสร็จตามแผนงาน

ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิตนั้น ล่าสุด ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างการกำหนดคุณสมบัติเบื้องต้น (PQ) และคาดว่าจะเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดได้ในวันที่29 มิถุนายนนี้ ซึ่งบอร์ดได้กำชับฝ่ายบริหารตรวจสอบให้ดีด้วยว่าปริมาณงานกับแบบก่อ สร้างมีความสัมพันธ์กันหรือไม่ เพื่อไม่เกิดกรณีเช่น ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันอีก

ทั้งนี้ โครงการลงทุนทำรถไฟฟ้าสายบางซื่อ-รังสิต ดังกล่าว มีวงเงิน 77,000 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลัง เพิ่งลงนามกู้เงินกับ JICA เมื่อเดือนมีนาคม 2552 ในเงื่อนไขผ่อนปรน ดอกเบี้ย 1.4% ต่อปี ระยะเวลาการผ่อนชำระ 25 ปี แต่ 7 ปีแรกปลอดเงินต้น และงวดแรกได้รับเงิน 23,341 ล้านบาท

สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม หมอชิต-สะพานใหม่ ,สีเขียวอ่อน แบริ่ง-สมุทรปราการ และส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ กับหัวลำโพง-บางแค ขณะ นี้มีความพร้อมต่อการเปิดประมูลแล้ว รอเพียงเงินที่จะมาดำเนินโครงการเท่านั้น ซึ่งคาดว่า รฟม.จะได้เปิดประมูลทั้ง 3 สายทางดังกล่าวไม่เกินสิ้นปีนี้

สำหรับสายสีเขียว 2 สายทาง วงเงินลงทุน 64,832 ล้านบาท จะใช้แหล่งเงินกู้ในประเทศ ส่วนสายสีน้ำเงิน รวม 75,995 ล้านบาท โดยแบ่งดังนี้
ค่าก่อสร้างงานโยธา 48,821 ล้านบาท
ค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ 2,174 ล้านบาท และ
ระบบกับตัวรถไฟฟ้า 25,000 ล้านบาท
จะกู้จากต่างประเทศ

ขณะนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กำลังพิจารณาหาแหล่งเงินกู้ หลังจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)ปฏิเสธที่จะกู้เงินแบบดอกเบี้ยพิเศษสุด (step loan) 0.2% จากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของประเทศญี่ปุ่น (JICA) เพราะมีเงื่อนไขที่ทำให้เสียเปรียบอย่างมาก ส่วนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินอีก 5,900 ล้านบาท ใช้เงินงบประมาณประเทศ

//--------------------------------------------------------------------

หั่นเงินกู้รสก.คลังส่งคนคุม รฟท.ชุ่ยค่าก่อสร้างบายปลาย
คอลัมน์ เศรษฐกิจ
ไทยโพสต์ 29 มิถุนายน 2552 - 00:00

หั่นทิ้งแผนกู้เงินของรัฐวิสาหกิจอื้อซ่า เผย "กรณ์" เซ็งขอกู้เว่อร์ เล็งส่งคนคลังควบคุมรถไฟฯ ชุ่ยค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าบางซื่อ-ตลิ่งชันไม่ตรงกับปริมาณงานจริง

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2552 ที่ปรับปรุงล่าสุดนั้น ได้มีการปรับลดแผนการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจลงไปราว 3 หมื่นล้านบาท เนื่องจากยังไม่มีความพร้อมหรือเหมาะสมที่จะกู้เงินในปีงบประมาณนี้ อาทิ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ลดไปประมาณ 2,700 ล้านบาท การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ลดไป 8,000 ล้านบาท การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ลดไป 7,000 ล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ลดไป 3,000 ล้านบาท ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ลดไป 8,000 ล้านบาท เป็นต้น

ทั้งนี้ นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แสดงความเป็นห่วงว่าการกู้เงินเพื่อลงทุนของรัฐวิสาหกิจในแต่ละปีนั้นไม่ค่อยเป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งๆ ที่ตอนจัดทำแผนการกู้เงินนั้นรัฐวิสาหกิจมักจะขอวงเงินกู้เอาไว้เป็นจำนวนมาก แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้ดำเนินการ ทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการ

แหล่งข่าวกล่าวว่า รมว.คลังมีแนวคิดว่า น่าจะเพิ่มบทบาทกระทรวงการคลังในการเข้าไปให้คำแนะนำ รวมถึงเข้าไปกำกับดูแลในเรื่องการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งให้มากขึ้น จากเดิมที่รัฐวิสาหกิจจะดูแลเอง แต่ก็ยอมรับว่าการเข้าไปดำเนินการดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะรัฐวิสาหกิจเองก็คงไม่ต้องการให้กระทรวงการคลังเข้าไปควบคุมมากเกินไป

ด้านนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อธิบดีกรมทางหลวง ในฐานะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันว่า ล่าสุดกำลังประสบปัญหาด้านเทคนิคก่อสร้างเพราะเพิ่งตรวจพบว่าปริมาณงานที่ต้องทำจริงมีมากกว่าที่ออกแบบไว้ ดังนั้นหากจะให้โครงการเดินหน้าต่อไป ร.ฟ.ท.ต้องหาเงินเพิ่ม ซึ่งคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ที่มีนายถวัลย์ รัฐอ่อนศิระ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน จึงสั่งการให้ฝ่ายบริหารไปจัดจ้างสถาบันการศึกษามาตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยให้เวลา 1 เดือน

ทั้งนี้จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่าคงเพิ่มเงินอีกไม่ถึง 1,000 ล้านบาท และน่าจะอยู่ในกรอบวงเงิน 13,000 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้ โดยช่วงประกวดราคา ร.ฟ.ท.ตั้งราคากลางไว้ที่ 8,748.40 ล้านบาท และผู้รับงาน คือ กลุ่มกิจการร่วมค้ายูนิค-ซุนวู จอยท์เวนเจอร์ (บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ และบริษัท CHUNWO CONSTRUCTION & ENGINEERING CO.,LTD) เสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง 1,000 บาท

อย่างไรก็ดี การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายดังกล่าวนี้ยังมีปัญหาเรื่องการรื้อย้ายพื้นที่ที่ใช้ในการก่อสร้างด้วย เพราะมีสิ่งปลูกสร้างและมีผู้บุกรุกเข้าไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ถึง 3,084 หลังคาเรือนจนเกิดกรณีฟ้องร้อง โดยล่าสุดกลุ่มยูนิค-ซุนวู เพิ่งดำเนินการรื้อย้ายไปเพียง 10% เท่านั้น แต่ผู้รับงานยังเชื่อว่าทำการรื้อย้ายได้เสร็จตามแผนงาน

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิตนั้น ขณะนี้ ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างการกำหนดคุณสมบัติเบื้องต้น (PQ) และคาดว่าจะเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดได้ในวันที่ 29 มิถุนายน 2552.

ประมูลจ้างเอกชน'ไล่ที่'

แนวก่อสร้างรถไฟฟ้าบางซื่อ-รังสิตชาวบ้านกว่าพันหลังต้องย้ายปี 53

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่า รฟท. เตรียมจ้างเอกชนเข้ารื้อย้ายอาคาร สิ่งปลูกสร้าง และทรัพย์สินของผู้บุกรุกออกจากพื้นที่โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต งบประมาณ 71,043,600 บาท โดยเอกชนที่ได้งานจะต้องรื้อย้ายอาคาร สิ่งปลูกสร้าง และทรัพย์สินของผู้บุกรุกออกจากพื้นที่โครงการในแนวทางรถไฟสายเหนือ คือ ตั้งแต่บริเวณก่อนเข้าสถานีบางซื่อ กม.6+000.00 ถึงสถานีรังสิต กม.32+350.00 จำนวนประมาณ 1,236 ครัวเรือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน นับจากวันจ้างงาน โดยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการรื้อย้ายทั้งหมด ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในการฟ้องคดีขับไล่ และการบังคับคดี ค่ารื้อถอน ค่าขนย้าย และค่าใช้จ่ายอื่น เอกชนต้องวางแผนการดำเนินงานเอง ต้องจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไม่น้อยกว่า 20 คน มาดูแลไม่ให้มีการบุกรุกเพิ่มเติมตลอดระยะเวลาสัญญา รวมเวลาค้ำประกันผลงาน 27 เดือน ซึ่งขณะนี้ รฟท.ได้ประกาศร่างทีโออาร์โครงการดังกล่าวให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นบนเว็บไซต์ของ รฟท. และเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลางแล้ว โดยสิ้นสุดรับฟังความเห็นในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ หลังจากนั้นจะรวบรวมก่อนจัดทำเป็นเอกสารเพื่อประกาศประกวดราคาต่อไป คาดว่าจะได้ตัวเอกชนมาลงพื้นที่ภายในปีนี้

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า การจ้างเอกชนมารื้อย้ายผู้บุกรุกออกจากพื้นที่ก่อสร้างโครงการ สืบเนื่องมาจาก รฟท.ได้ประสบการณ์มาจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าต่อเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือ แอร์พอร์ตลิงค์ ที่ รฟท. เข้ารื้อย้ายผู้บุกรุกเอง แต่การไล่รื้อกลับล่าช้า เนื่องจากติดขั้นตอนทางราชการในการเบิกจ่ายเงินให้กับผู้ถูกไล่รื้อต้องใช้เวลานาน ทำให้การส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ส่งผลให้การก่อสร้างล่าช้าตามไปด้วย ต่อมา รฟท.จึงหาแนวทางแก้ปัญหาใหม่โดยในการประกาศประกวดราคาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน มีข้อกำหนดให้ผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการต้องรื้อย้ายผู้บุกรุกเอง ทำให้มีเอกชนมายื่นประมูลเพียงรายเดียว จนมีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตถึงความไม่โปร่งใสในการประกวดราคา จนกระทั่งครั้งนี้ รฟท.เปิดประกวดราคาหาเอกชนมารื้อย้ายผู้บุกรุก โดยให้เหตุผลว่าจะทำให้การรื้อย้ายมีประสิทธิภาพมากกว่า ช่วยให้การก่อสร้างเดินหน้าได้รวดเร็วขึ้น.

ร.ฟ.ท.ปัดให้'ยูนิค' รับผิดชอบรื้อชุมชน ข้างรถไฟฟ้าสีแดง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2433 07 มิ.ย. - 10 มิ.ย. 2552

"ยุทธนา"แจงปัญหารื้อย้ายชุมชนริมทางรถไฟตามแนวรถไฟฟ้าสายสีแดงเป็นความรับ ผิดชอบของ "บมจ.ยูนิค" ตามข้อตกลงในสัญญาจ้าง เผยการรถไฟฯ ช่วยได้แค่จ่ายชดเชย ไม่เกิน 230 ล้านเจรจาได้แล้ว 400 หลังคาเรือนพร้อมเดินหน้ารื้อย้ายอีกกว่า 2,000 รายด้านศาลแพ่งเลื่อนนัดไต่สวนไปเป็น 7 ส.ค. เหตุผู้ร้องเรียนมาแสดงตัวไม่ครบ


นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)ในฐานะที่เป็นเจ้าของโครงการก่อสร้าง รถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันเปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงกรณีที่มี ประชาชนที่อยู่อาศัยตามแนวเส้นทางโครงการซึ่งถูกไล่รื้อกว่า 1,000 รายรวมตัวกันยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาลว่าในเบื้องต้นต้องทำความเข้าใจตาม สัญญางานก่อสร้างงานทั้งหมดรวมทั้งงานรื้อย้ายด้วยว่า


จะอยู่ในความรับผิดชอบของบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) (Unique - Chun Wo Joint Venture) หรือUNIQ ขณะที่ การรถไฟฯมีหน้าที่เพียงประสานงานเท่านั้น

เช่นหากชาวชุมชนไม่ยอมย้ายออกแล้วมีการฟ้องร้องหรือเดินขบวนการรถไฟฯก็จะเข้าไปทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยให้

ทั้งนี้ยืนยันว่ากรณีนี้การรถไฟฯจะช่วยเหลือได้เพียงแค่จ่ายค่าชดเชยหรือหา ที่อยู่ที่เหมาะสมให้ผู้ที่ถูกไล่รื้อโดยจะประสานกับองค์กรพัฒนาชุมชนเพื่อ ร่วมกันหามาตรการรองรับแต่การรถไฟฯ ไม่สามารถยอมให้ผู้ถูกไล่รื้อเช่าพื้นที่ที่เหลือจากการก่อสร้างได้เนื่อง จากพิจารณาแล้วเห็นว่าต้องใช้เนื้อที่เกือบทั้งหมดอีกทั้งผู้ที่อาศัยอยู่ ตามแนวเส้นทางโครงการส่วนใหญ่เป็นผู้บุกรุกที่ดินของการรถไฟฯซึ่งต้อง ปฏิบัติตามระเบียบ

"เรื่องปัญหาการรื้อย้ายชุมชนถือเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องเกิดผมยอมรับว่าชาวบ้านเดือดร้อน

แต่เราก็ต้องเดินหน้างานก่อสร้างต่อไปเพราะรถไฟฟ้าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วย กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศซึ่งเราจะช่วยเหลือโดยจ่ายค่าชดเชยหรือหาที่อยู่ให้ ใหม่ตามสมควรแต่เรื่องขอเช่าพื้นที่ที่เหลือจากการก่อสร้างยืนยันว่าให้ไม่ ได้เพราะดูแล้วเราคงไม่มีพื้นที่เหลือให้เช่าได้คือพื้นที่นอกเขตรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นที่ดินของการรถไฟฯ เช่น ตลิ่งชันแต่ก็ต้องดูด้วยว่าชาวชุมชนนั้นอยู่ในกลุ่มสลัม 4 ภาคหรือไม่ถ้าอยู่ในกลุ่มนี้เราจะจัดหาที่อยู่ใหม่ให้ตามข้อตกลงกันแต่ถ้า ไม่ได้อยู่ก็คงช่วยไม่ได้"

ผู้ว่าการรถไฟฯกล่าวต่ออีกว่า เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมาได้มีการประชุมร่วมกับผู้รับจ้างก่อสร้างเพื่อติดตามความ คืบหน้าซึ่งผู้รับจ้างได้ยืนยันว่างานรื้อย้ายไม่มีปัญหาล่าสุดดำเนินการไป แล้ว 400 หลังคาเรือนเชื่อว่าจะรื้อย้ายเสร็จภายใน1 ปี ตามเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาและค่าชดเชยจะไม่เกินจากกรอบวงเงินค่ารื้อย้ายที่ ตั้งไว้ 230 ล้านบาท ทั้งนี้มั่นใจว่างานก่อสร้างสายสีแดงนี้จะไม่ซ้ำรอยโครงการก่อสร้างระบบขน ส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกับสถานีรับ-ส่งผู้โดยสารอากาศยานใน เมือง(แอร์พอร์ตเรลลิงค์)ที่ล่าช้ามาก


"ยังมั่นใจว่าโครงการนี้จะไม่ซ้ำรอยแอร์พอร์ตเรลลิงค์เพราะเมื่อได้ประชุม ติดตามงานแล้วผู้รับจ้างยังยืนยันว่าไม่มีปัญหาสามารถจัดการได้ล่าสุดก็ตกลง กันได้แล้ว 400 หลังคาเรือน


จากที่ต้องรื้อย้ายทั้งหมดกว่า 3,000 หลังคาเรือนโครงการนี้เซ็นสัญญาเริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนธันวาคมปี 2551 ใช้เวลาก่อสร้าง 33 เดือนโดยต้องรื้อย้ายให้จบใน 1 ปีซึ่งทางผู้รับจ้างยังยืนยันว่าทำได้


ส่วนเรื่องค่าชดเชยก็มั่นใจว่าไม่เกิน 230 ล้านบาทเพราะที่ปรึกษาได้ลงพื้นที่สำรวจแล้วว่าจะต้องชดเชยครัวเรือนละเท่าไรอย่างไร"


ทางด้านความเคลื่อนไหวของผู้ถูกไล่รื้อนั้นเมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมาศาลแพ่งรัชดาฯได้เลื่อนนัดเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่าง ชาวชุมชนที่ถูกไล่รื้อกับบริษัทผู้รับงาน คือ บมจ.ยูนิค ไปก่อนเนื่องจากผู้ที่ถูกไล่รื้อมารายงานตัวไม่ครบและนัดเจรจาไกล่เกลี่ยอีก ครั้งในวันที่ 7 สิงหาคม 2552 ทั้งนี้ผู้ถูกไล่รื้อได้ฟ้องร้องต่อศาลเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวให้บริษัทผู้ รับจ้างก่อสร้าง ชะลอการรื้อย้ายออกไปก่อนจนกว่าจะสามารถเจรจากับการรถไฟฯเรื่องขอเช่า พื้นที่ที่เหลือจากการก่อสร้างได้เสร็จสิ้น


สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันมีระยะทางทั้งสิ้น 15 กม. วงเงินก่อสร้าง 8.7 พันล้านบาท มี 3 สถานีคือ

1. สถานีบางซ่อน
2. สถานีบางบำหรุและ
3. สถานีตลิ่งชัน

มีจำนวนผู้ที่จะต้องถูกไล่รื้อ 3,084 หลังคาเรือนซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามแนวเส้นทางมากว่า 50 ปีแล้ว

ศาลเลื่อนนัดไกล่เกลี่ยการไล่รื้อชุมชนโครงการรถไฟฟ้า 7 ส.ค.นี้

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 2 มิถุนายน 2552 14:00 น.

การนัดเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างบริษัทผู้รับเหมาโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงบางซื่อ-ตลิ่งชัน กับชาวชุมชนตลอดแนวเส้นทางรถไฟฟ้า ที่ศาลแพ่งรัชดา ได้เรียกทั้ง 2 ฝ่ายมาเจรจา เพื่อหาข้อยุติ เรื่องการไล่รื้อ ซึ่งชาวชุมชนปัจจุบันอาศัยอยู่บนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ขอให้บริษัทผู้รับเหมาชะลอการไล่รื้อออกไปก่อน จนกว่าการเจรจาขอเช่าที่ดินส่วนที่เหลือจากการสร้างรถไฟฟ้า จากการรถไฟได้สำเร็จ แต่เนื่องจากชาวชุมชนมาไม่ครบ ศาลจึงเลื่อนนัดไกล่เกลี่ยไปเป็นวันที่ 7 สิงหาคม 2552
ผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กิโลเมตร ที่สำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่งและจราจรทำขึ้นไว้ ช่วงปี 2547 -2548 ระบุว่า มีพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง 38 จุด แบ่งเป็นสถานประกอบการ 72 แห่ง ชุมชนที่อยู่อาศัย 15 แห่ง หรือคิดเป็นบ้าน 2,351 หลัง

ร.ฟ.ท.เร่งประกวดราคาบางซื่อ-รังสิตโยนผู้รับเหมาขับไล่ผู้บุกรุก 1,236 ราย

โดย ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์ 23 เมษายน 2552 15:48 น.
.ฟ.ท.เดินเครื่องประกวดราคารถไฟฟ้า ช่วงบางซื่อ-รังสิต พร้อมจ้างผู้รับเหมาแบบเหมาจ่ายขับไล่ผู้บุกรุกบางซื่อ-รังสิต 12 ชุมชน จำนวน 1,236 ราย คาดแล้วเสร็จใน 1 ปี ก่อนลงมือก่อสร้างทันที ส่วนช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน อยู่ระหว่างก่อสร้างคาดเสร็จ 2555

โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงทั้ง 2 ช่วง คือ
1. บางซื่อ-รังสิต และ
2. บางซื่อ-ตลิ่งชัน

ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติเมื่อ 16 ต.ค. 2550 ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ดำเนินการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมือง(สายสีแดง) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนที่อยู่รอบนอก ไม่ว่าจะเป็นรังสิต ดอนเมือง ปทุมธานี เป็นต้น

รถไฟฟ้าสายสีแดงเป็นโครงการเร่งด่วนที่รัฐบาลจะต้องเร่งลงทุน เพราะนอกจากจะเพิ่มความสะดวกสบายแล้ว ยังช่วยกระตุ้นการลงทุนของภาคธุรกิจต่างๆด้วย แต่เนื่องจากที่ผ่านมาที่ถึงแม้ว่าจะได้ผู้รับเหมาในช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ เนื่องจากติดปัญหาการรื้อย้ายผู้บุกรุก เพราะเดิมทางองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น(ไจก้า) ต้องการให้ร.ฟ.ท.เป็นผู้ดำเนินการขับไล่ รวมถึงช่วงบางซื่อ-รังสิต แต่สุดท้ายร.ฟ.ท.หาทางออกด้วยการว่าจ้างผู้รับเหมาแบบเหมาช่วงให้เป็นผู้รื้อย้ายผู้บุกรุก ซึ่งทางไจก้าก็พอใจกับเงื่อนไขดังกล่าว

ยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันว่า ขณะนี้ร.ฟ.ท.ได้ลงนามจ้างที่ปรึกษาเกี่ยวกับการรื้อย้ายไปแล้วเมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทางที่ปรึกษาจะต้องตรวจสอบแผนการดำเนินงานแล้วส่งมาให้ร.ฟ.ท.พิจารณาแก้ไขจุดบกพร่อง

ซึ่งที่ปรึกษาจะต้องกำหนดแผนการรื้อย้ายให้ชัดเจนใน 1-2 เดือนนี้ ส่วนสิ่งกีดขวางไม่ว่าจะเป็นท่อน้ำมัน ประปา ร.ฟ.ท.จะประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขอความร่วมมือ

โดยรถไฟฟ้าสายสีแดง(บางซื่อ-ตลิ่งชัน) มูลค่า 8,748 ล้านบาท ระยะทาง 15 กม. แบ่งเป็นทางยกระดับ 7.5 กม. บนดิน 7.5 กม. ส่วนงานก่อสร้างแบ่งเป็นงานโยธา งานสถานี งานวางราง งาน Local Road งานรื้อย้าย 18 ชุมชน จำนวน 3,084 ราย วงเงินในการจ้างผู้รับเหมารื้อย้าย 262 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดแล้วเสร็จ 2555

ส่วนช่วงบางซื่อ-รังสิต ยุทธนา กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไป ร.ฟ.ท.จะเร่งประกาศประกวดราคาโดยเร็ว ใช้เวลา 15 เดือน ตามเงื่อนไขของไจก้า โดยเวลา15 เดือน ร.ฟ.ท.จะต้องเตรียมเอกสารประกวดราคาและจัดทำเอกสารการคัดเลือกผู้ดำเนินการก่อสร้าง ( PQ) ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน และหลังจากได้ผู้รับเหมาแล้ว ร.ฟ.ท.จะออกประกาศทีโออาร์ เรื่องคุณสมบัติด้านเทคนิคและราคา

“ ทั้งนี้ร.ฟ.ท.จะต้องเร่งดำเนินการหาผู้ประกวดราคาโดยเร็ว เพราะไม่อย่างนั้นจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเงินกู้ 0.1สตางค์ หมายความว่าเดือนที่ 1-4 เป็นช่วงของการปลอดค่าธรรมเนียม ฉะนั้นในช่วงนี้ร.ฟ.ท.จะต้องดำเนินการประกวดราคา เพราะหากช้าออกไปในเดือนที่ 5 ก็จะเสียค่าธรรมเนียมรวมกับดอกเบี้ย 1.4% สรุปแล้วร.ฟ.ท.จะมีค่าใช้จ่าย 1.50สตางค์”ยุทธนากล่าว

ส่วนจำนวนผู้บุกรุกในช่วงบางซื่อ-รังสิต มี 12 ชุมชน จำนวน 1,236 ราย โดยร.ฟ.ท.จะดำเนินการจ้างผู้รับเหมาในลักษณะการจ้างแบบเหมาจ่าย ในการขับไล่ โดยผู้รับเหมาจะต้องเสนอแผนขับไล่ วิธีจ่ายเงินมาให้ร.ฟ.ท.พิจารณา วงเงินว่าจ้าง 112 ล้านบาท จะต้องขับไล่ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ตามแผนน่าจะประกวดราคาได้ในเดือนที่ 5

“หากมีการวางแผนที่ดี มีค่าตอบแทนที่พอเหมาะพอควร ก็น่าจะคุยกันรู้เรื่อง เพราะโครงการนี้มีความจำเป็นที่ต้องก่อสร้าง แต่หากร.ฟ.ท.ไม่เข้าไปทำความเข้าใจ ไม่ประชาสัมพันธ์ ชาวบ้านก็จะไม่รับรู้ก็อาจเกิดปัญหา ซึ่งเรื่องนี้อยู่ที่การลงพื้นที่และการทำความเข้าใจ ดูแลตามเหตุตามผลซึ่งไม่น่าจะมีปัญหา”

สำหรับวงเงินก่อสร้างที่เป็นข้อครหาว่าเพิ่มขึ้นจาก 59,000 ล้านบาทเป็น 75,548 ล้านบาทนั้นยุทธนาชี้แจงว่า เดิมวงเงินดังกล่าวครม.อนุมันติกรอบวงเงินที่ 59,000 ล้านบาท เฉพาะงานโยธา งาน E&M บางซื่อ-รังสิต บางซื่อ-ตลิ่งชัน และงานจ้างที่ปรึกษาเท่านั้น ไม่มีรายละเอียดของ ดีเทลดีไซน์ ว่าเนื้องานเท่าไหร่ ที่ร.ฟ.ท.ขออนุมัติกรอบวงเงินไปก่อน ต่อมาก็มีการเพิ่มรายละเอียดว่าเนื้องาน วงเงินจึงเพิ่มขึ้นเป็น 65,000 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่รวมรถจักรล้อเลื่อนกับระบบอาณัติสัญญาณ เพราะรถจักรล้อเลื่อนราคาประมาณ 7,000 ล้านบาท บวกกับระบบอาณัติสัญญาณอีกกว่า 3,000 ล้านบาท หรือประมาณ 12,000 ล้านบาท ส่งผลให้รถไฟต้องปรับวงเงินค่าก่อสร้างเพิ่มเป็น 75,548 ล้านบาท

โดยแบ่งเป็นงานโยธา ระบบไฟฟ้าเครื่องกล มูลค่า 62,386 ล้านบาท งานตู้รถไฟฟ้า 7,019 ล้านบาท และงานไฟฟ้าเครื่องกลกับตู้รถไฟฟ้า 6,153 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้ร.ฟ.ท.จะนำงานไฟฟ้าเครื่องกลและตู้รถไฟฟ้าของช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน มารวมด้วยเพื่อให้ระบบสามารถเชื่อมต่อกันได้ และจะเปิดประมูลในคราวเดียวกันเพื่อให้ระบบวิ่งรถไปในทิศทางเดียวกัน

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วง บางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กม.จะเป็นทางยกระดับจากบางซื่อ-ดอนเมือง และลงดินจากดอนเมือง-รังสิต ส่วนแผนการดำเนินงานในช่วง 15 เดือน ประกอบด้วย

เดือนเม.ย.2552-.ค.2553 เริ่มงานรื้อย้าย
เดือนพ.ค.-ต.ค.2552 จ้างที่ปรึกษาPMC (บริหารโครงการ) เดือน ธ.ค.2552-ก.ค.2553 จ้างที่ปรึกษาCSC (คุมงาน)และก่อสร้างงาน และจ้างผู้รับเหมา แบ่งเป็น 2 ช่วงคือ
1.คัดเลือกผู้รับเหมาในเดือน เม.ย.-ส.ค.2552 และ
2.Tender เริ่มก.ย.2552-ก.ค.2552 แล้วเสร็จปี2557

ประดิษฐ์"ลงนามกู้"ญี่ปุ่น"สร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง

วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2552 เวลา 14:43:52 น. มติชนออนไลน์


นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และ Mr.Kyoji KOMACHI เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ร่วมลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 31 มี.ค. สำหรับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ของการรถไฟแห่งประเทศไทย และได้ลงนามในสัญญาเงินกู้สำหรับโครงการดังกล่าว กับ Mr.Katsuji ONODA ผู้อำนวยการองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (JICA) ณ กระทรวงการคลัง

สำหรับโครงการดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้ ภายใต้ความร่วมมือทางการเงินครั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นตกลงให้กระทรวงการคลังกู้เงิน โดยผ่านองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency : JICA) ในงวดแรกวงเงิน 63,018 ล้านเยน หรือเทียบเท่าประมาณ 23,341 ล้านบาท สำหรับการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อดำเนินโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ทั้งนี้ เงินกู้รัฐบาลญี่ปุ่นเป็นเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน มีอัตราดอกเบี้ยสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการในอัตราร้อยละ 1.4 ต่อปี ส่วนค่าจ้างที่ปรึกษา อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี และมีค่าธรรมเนียมผูกพันเงินกู้ร้อยละ 0.1 ของวงเงินที่ยังไม่ได้เบิกจ่าย กำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ 25 ปี รวมระยะเวลาปลอดหนี้เงินต้น 7 ปี ส่วนเงื่อนไขในการจัดซื้อสินค้าและบริการเปิดโอกาสให้กระทำโดยเสรี โดยสามารถจัดซื้อสินค้าและบริการได้จากทุกประเทศ โดยวิธีประกวดราคานานาชาติ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินในรูปเงื่อนไขผ่อนปรน เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแก่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2511 จนถึงปัจจุบันมีวงเงินกู้รวมทั้งสิ้น 2,073,555 ล้านเยน โดยความช่วยเหลือทางการเงินส่วนใหญ่จะมุ่งให้แก่โครงการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาเมือง และพัฒนาชนบท รวมทั้งโครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร

ญี่ปุ่นตกลงให้ไทยกู้สร้างรถไฟสายสีแดงบางซื่อ-รังสิต วงเงินกว่า 23,000 ล้าน

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 30 มีนาคม 2552 18:39 น.
นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการลงนามความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นตกลงให้กระทรวงการคลังของไทยกู้เงินผ่านองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือ ไจก้า ในงวดแรก จำนวน 63,000 ล้านเยน หรือเทียบเท่ากับเงินไทย 23,341 ล้านบาท เพื่อให้การรถไฟแห่งประเทศไทยนำไปก่อสร้างโครงการรถไฟชานเมือง สายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต โดยเงินกู้ดังกล่าวเป็นเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน คิดอัตราดอกเบี้ยสำหรับจัดซื้อจัดจ้างสินค่าและบริการในอัตราร้อยละ1.4 ต่อปี ส่วนค่าจ้างที่ปรึกษาคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี และคิดค่าธรรมเนียมผูกพันเงินกู้ร้อยละ 0.1 ของวงเงินที่ยังไม่ได้เบิกจ่าย กำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ 25 ปี รวมระยะเวลาปลอดหนี้เงินต้น 7 ปี

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำหรับในช่วงระยะเวลา 41 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินในรูปเงื่อนไขผ่อนปรนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแก่ไทยเป็นวงเงินรวมกว่า 2 ล้านล้านเยน

รถไฟฯทุ่ม2หมื่นล้านเนรมิตที่ดินเกือบ500ไร่ผุดสถานีกลางบางซื่อ รับรถไฟสายสีแดง

Prachachart Thurakij วันที่ 20 มีนาคม 2552 - เวลา 12:29:08 น

พายลโฉมสถานีกลางบางซื่อที่การรถไฟฯจะใช้เงินลงทุนก่อสร้างกว่า 2 หมื่นล้าน บนที่ดินเกือบ 500 ไร่เพื่อรองรับโครงการรถไฟสายสีแดง "บางซื่อ-ตลิ่งชัน-รังสิต”เผยอนาคตจะเป็นจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนและโครงข่ายคมนาคมที่สำคัญ

เมื่อรัฐบาล "มาร์ค 1" เดินหน้าก่อสร้างโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร เงินลงทุนกว่า 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งหนึ่งในสัญญางานก่อสร้างจะมีงานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อรวมอยู่ด้วย ใช้เงินก่อสร้างกว่า 2 หมื่นล้านบาท

สถานีกลางบางซื่อ ตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟบางซื่อ ปัจจุบันพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1,172.6 ไร่ หรือ 1,876,160 ตร.ม. ไม่รวมพื้นที่สถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิต 2 ประกอบด้วย

1. พื้นที่กิจกรรมที่การรถไฟฯใช้อยู่เดิม โดยจะไม่มีการรื้อย้ายประมาณ 685.6 ไร่ หรือ 1,096.960 ตร.ม. และ
2. พื้นที่ที่นำมาใช้ออกแบบก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อประมาณ 487 ไร่ หรือ 779,200 ตร.ม. หรือประมาณ 41.5% ของพื้นที่ทั้งหมด

ภายในสถานีประกอบด้วย

1. อาคารสถานีบางซื่อ 79,840 ตร.ม. หรือ 49.9 ไร่
2. ถนนในบริเวณย่านสถานี 65,600 ตร.ม. หรือ 41 ไร่
3. ลานจอดรถไฟทางไกล 288,640 ตร.ม. หรือ 180.4 ไร่
4. ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าชานเมือง 198,040 ตร.ม. หรือ 123.8 ไร่
5. ลานจอดแท็กซี่ 10,240 ตร.ม. หรือ 6.4 ไร่
6. ภูมิสถาปัตยกรรม 47,200 ตร.ม. หรือ 29.5 ไร่

ในอนาคตสถานีกลางบางซื่อบริเวณชุมทางบางซื่อ ถนนเทอดดำริ จะเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนและโครงข่ายการคมนาคมสำคัญๆ จำนวนมาก จึงถูกกำหนดให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งมวลชนระบบราง โดยบริเวณโดยรอบสถานีบางซื่อ มีการใช้ประโยชน์พื้นที่หลากหลาย เช่น สถานีขนส่งมวลชนทั้งในระบบรางและถนน สวนสาธารณะ พื้นที่พาณิชยกรรม ชุมชนพักอาศัย เป็นต้น

รวมทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อระบบการจราจรที่เชื่อมโยงกับโครงข่ายถนนหลัก เช่น ถนนพหลโยธิน วิภาวดีรังสิต จุดขึ้น-ลงทางด่วนขั้นที่ 2 รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟสายเหนือ และสายตะวันตก

ด้วยความหนาแน่นของผู้มาใช้บริการ รูปแบบโครงสร้างสถานีมี 3 ชั้น และชั้นใต้ดินอีก 1 ชั้น มุ่งเน้นให้สามารถรองรับคนได้จำนวนมากพิเศษ นอกเหนือจากความสวยงามที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยรูปทรงโค้งแบบร่วมสมัยเหมือนกับสถานีหัวลำโพงแล้ว ยังเน้นในเรื่องความสะดวกสบายและประหยัดเวลา เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเชื่อมการเดินทางยังจุดหมายปลายทางได้ง่าย โครงสร้างอาคารไม่ซับซ้อน ดูแลรักษาง่าย วัสดุที่ใช้มีความทนถาวร ผนังอาคารชั้นชานชาลาทั้ง 2 ชั้นเปิดโล่ง เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกและรับแสงสว่างจากภายนอก

พื้นที่ใช้สอยมีทั้งหมด 4 ชั้น ทุกชั้นเชื่อมต่อถึงกันด้วยระบบลิฟต์และบันไดเลื่อน ประกอบด้วย

1.ชั้นใต้ดิน เป็นพื้นที่ที่จอดรถประมาณ 1,700 คัน และที่ตั้งของห้องเครื่องสำหรับงานระบบอาคาร และเป็นพื้นที่ทางเชื่อมต่อระหว่างสถานีกลางบางซื่อกับสถานีบางซื่อของรถไฟฟ้าใต้ดิน

2.ชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสารและชั้นลอย เป็นพื้นที่หลักของอาคารสถานีกลางบางซื่อ จะแบ่งเป็นสัดส่วน มีโถงพักคอยและรับผู้โดยสาร สำหรับผู้โดยสารขาเข้า และผู้ใช้อาคารที่เดินทางเข้ามาในตัวอาคาร มีส่วนโถงพื้นที่พาณิชยกรรม ร้านค้า ส่วนพื้นที่ชั้นลอย จะอยู่เหนือโถงพักคอย สำหรับต้อนรับบุคคลสำคัญ มีพื้นที่พาณิชยกรรมและร้านค้า

3.ชั้นชานชาลารถไฟทางไกล เป็นพื้นที่สำหรับรองรับผู้โดยสารทางไกล มีทั้งหมด 6 ชานชาลา ระดับสูงกว่าพื้นชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร 9 เมตร

4.ชั้นชานชาลารถไฟชานเมือง เป็นพื้นที่สำหรับรองรับผู้โดยสารรถไฟชานเมือง มีทั้งหมด 2 ชานชาลา อยู่สูงกว่าชั้นจำหน่ายตั๋ว 19 เมตร

แผนงานก่อสร้างจะแยกออกมาจากสัญญางานโครงสร้างรถไฟฟ้า ช่วงบางซื่อ-รังสิต เป็นอีก 1 สัญญา ซึ่งขอบเขตงานก่อสร้างจะมีงานอาคารสถานีรถไฟ 2 สถานี คือ

1. อาคารสถานีกลางบางซื่อ และ
2. อาคารสถานีจตุจักร

งานก่อสร้างโครงสร้างทางรถไฟยกระดับ ระยะทาง 6 กิโลเมตร อาคารศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าชานเมืองและอาคารแวดล้อม อาคารศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟทางไกลและอาคารแวดล้อม

ไจกายอมปล่อยกู้สายสีแดง

Posttoday วันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2552

ญี่ปุ่นไฟเขียว ไจกา ปล่อยกู้ 6 หมื่นล้านเยน ให้คลังสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ดำเนินการเจรจาตกลง ในร่างหลักการของร่างหนังสือ แลกเปลี่ยนว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น และ รายละเอียดของร่างสัญญาเงินกู้ สำหรับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต

ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นตกลงที่จะให้กระทรวงการคลังกู้เงิน โดยผ่านองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือไจกา ใน วงเงิน 63,018 ล้านเยน สำหรับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยเงินกู้ดังกล่าว คิดอัตราดอกเบี้ย 1.4% ต่อปี ยกเว้นอัตราดอกเบี้ยสำหรับส่วนของการจ้างที่ปรึกษาอัตรา 0.01% ต่อปี โดยมีค่าธรรมเนียมผูกพันเงินกู้ 0.1% ต่อปี ของวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกจ่าย และ มีระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ 25 ปี รวมระยะปลอดหนี้ 7 ปี

เส้นตาย30วันไล่ชุมชนพ้นเขตรถไฟสายสีแดง

โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 11 มีนาคม 2552 20:53 น.

การรถไฟฯ เล่นบทโหด แจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในแนวเขตก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดงย้ายด่วนภายใน 30 วันรับงานเร่งก่อสร้างตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ชุมชนประมาณ 3,000 ครัวเรือน ขอเจรจายืดเวลารื้อถอน คาดไม่จบง่าย

นายภาณุวัฒน์ เชิญชู ทนายความผู้รับมอบอำนาจ บริษัทสำนักงานกฎหมายสหการ จำกัด ได้ทำหนังสือแจ้งให้ประชาชนในเขตพื้นที่อำเภอบางกรวย ซึ่งอยู่ในแนวก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงย้ายออกจากพื้นที่โดยด่วน โดยให้เหตุผลว่า ขณะนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย จะต้องทำการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ตามนโนบายสำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล

รวมทั้งความจำเป็นในการบริหารจัดการในงบลงทุนและบริหารจัดการด้านวิศวกรรมก่อสร้าง จึงต้องเริ่มลงมือก่อสร้างในทุกจุดโดยเร่งด่วนและพร้อมกันตลอดเส้นทาง ตามแผนการดำเนินการต้องเริ่มลงมือประมาณ 1 มี.ค.นี้เป็นต้นไป หากดำเนินการล่าช้าจากแผนงานจะเกิดความเสียหายต่อโครงการในอัตราวันละไม่น้อยกว่า 8 ล้านบาท

การก่อสร้างโครงการนี้ฯ จะต้องดำเนินการผ่านบนที่ดินของการรถไฟฯ ซึ่งมีประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์โดยไม่มีสิทธิและไม่ชอบด้วยกฎหมาย หนังสือแจ้งเตือนจากบริษัทสำนักงานกฎหมายฯ ผู้รับมอบอำนาจจากการรถไฟฯ นี้ ได้แจ้งให้ประชาชนในเขตพื้นที่ก่อสร้างขนย้ายทรัพย์สินและบริวารรวมทั้งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดิน ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ พร้อมทั้งส่งมอบที่ดินดังกล่าวให้แก่การรถไฟฯ ภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับหนังสือซึ่งลงวันที่ 26 ก.พ. 52 หากเพิกเฉยจะต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย

นายบุญช่วย ประกอบทรัพย์ เครือข่ายชุมริมทางรถไฟสายใต้-ตะวันตก หนึ่งในเครือข่ายสลัมสี่ภาค เปิดเผยว่า ชุมชนที่อยู่ในแนวก่อสร้างรถไฟสายสีแดงที่ตนเองดูแลอยู่มี 5 ชุมชน คือ ชุมชนบางกรวย ชุมชนวัดเพลง ชุมชนสะพานดำ ชุมชนตลิ่งชัน และชุมชนชัยพฤกษ์ 1, 2 มีอยู่ประมาณ 3,000 ครอบครัว ที่จะได้รับผลกระทบ เวลานี้ชุมชนพูดคุยกันว่าจะขอยืดเวลาการรื้อถอนออกไปก่อน แต่จะใช้เวลานานแค่ไหนไม่รู้ เพราะบางคนก็ไม่มีที่อยู่ ความจริงแล้วชุมชนทั้ง 5 เป็น 5 ใน 61 ชุมชนทั่วประเทศที่ขึ้นทะเบียนกับการรถไฟฯ ที่มีข้อตกลงกันว่า หากจะมีการรื้อถอนชุมชนออกไปการรถไฟฯ จะต้องมาพูดคุยหาทางออกร่วมกัน ไม่ใช่เอาหมายแจ้งเตือนให้ย้ายด่วนแบบนี้ ชาวบ้านไม่ได้คัดค้านโครงการแต่ก็คงไม่ยอมรื้อถอนออกไปง่ายๆ จะให้ทันภายใน 30 วันคงเป็นไปไม่ได้

สายสีแดงป่วน-สลัม4ภาคขู่ไม่ย้ายออก

สดรายวัน ปีที่ 18 ฉบับที่ 6662 วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552ข่าว

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เครือข่ายสลัม 4 ภาคกว่า 100 คน เดินทางเข้าพบนายอิสสระ สมชัย รมว.พม. เพื่อขอให้พิจารณาแก้ไขปัญหาด้านชุมชนแออัดและคนจนเมือง โดยนางประทิน เวคะวากยานนท์ ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับทราบว่าสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ได้ผลักภาระให้ชาวบ้านไปกู้เงินเพื่อที่อยู่อาศัยจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ขอในอัตราดอกเบี้ย 6% ต่อปี จากเดิมที่ช่วยเหลืออัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี จึงอยากมาร้องขอให้รมว.พม.ช่วยเหลือ โดยขอให้รัฐบาลเพิ่มงบประมาณด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยกองทุนพอช. ในปี"52 จำนวน 1,000 ล้านบาท เพื่อให้พอช. นำเงินมาปล่อยกู้แก่ชุมชนในอัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปีได้ ขณะที่รัฐบาลปล่อยสินเชื่อเงินกู้ซื้อบ้านให้กับข้าราชการในอัตราดอกเบี้ย 2.75% แต่คนหาเช้ากินค่ำกลับต้องแบกภาระดอกเบี้ย 6%

"ชาวบ้านไม่อยากกู้เงินไปสร้างบ้านตามโครงการบ้านมั่นคง จะส่งผลเป็นลูกโซ่เมื่อกู้เงินไปสร้างบ้านมั่นคงที่ใหม่ไม่ได้ ก็จะไม่มีการย้ายออกจากที่เดิม อย่างพื้นที่ที่ดิฉันอยู่ต้องเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน ซึ่งกำลังถูกไล่รื้อ ชาวบ้านก็จะไม่ยอมย้ายออกเพราะไม่มีเงินไปสร้างที่อยู่ใหม่ แต่หากปรับลดดอกเบี้ยโครงการบ้านมั่นคงเหลือ 4% เช่นเดิม พวกเราก็ยินดีย้ายออกไปกู้เงินสร้างบ้านมั่นคงพื้นที่ใหม่" นางประทินกล่าว

ด้านนายอิสสระ กล่าวว่า ตนรับหลักการตามข้อเสนอจะนำมาพิจารณาเพื่อหาทางแก้ไข ในระหว่างนี้ขอให้พอช. ระงับการอนุมัติโครงการบ้านมั่นคงที่เสนอเข้ามาใหม่ไว้ก่อน แต่ให้เร่งช่วยเหลือโครงการบ้านมั่นคงที่เข้าข่ายเร่งด่วน คือได้รับการอนุมัติดำเนินโครงการแล้วและอยู่ในระหว่างการไล่รื้อพื้นที่ ซึ่ง เท่าที่ทราบในวันที่ 27 ก.พ.นี้ คณะกรรมการพอช. จะพิจารณาในเรื่องนี้

ด้านนายสยาม นนท์คำจันทร์ ผู้จัดการสำนักงานโครงการบ้านมั่นคง พอช. กล่าวว่า ในวันที่ 25 ก.พ.นี้ จะมีการประชุมอนุคณะกรรมการสินเชื่อของพอช. ก่อนนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการพอช.ในวันที่ 27 ก.พ. ซึ่งจะพิจารณาหลักการให้ความช่วยเหลือ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1.กรณีเร่งด่วนที่อยู่ระหว่างการถูกไล่รื้อพื้นที่ มีประมาณกว่า 100 โครง การ
2.โครงการที่ซื้อที่ดินแล้วแต่ยังไม่สร้างบ้านมีอีกประมาณ 100 โครงการ และ
3.โครงการที่ขออนุมัติใหม่ ซึ่งเสนอเข้ามาที่พอช. เดือนละ 20-30 โครงการ

รายละเอียดการลงทุนสายแดง

มติชนออนไลน์ วันที่ 07 กุมภาพันธ์ 2552 - เวลา 09:25:24 น.

1. ตัดงบสาย บางซื่อ-รังสิต จาก 77,563 ล้านบาท เหลือ 75,548 ล้านบาท
2. แบ่งการก่อสร้างสายแดงเป็นสามสัญญาได้แก่
2.1 สัญญาที่ 1 งานโยธาสถานีกลางบางซื่อ วงเงิน 20,000 ล้านบาท
2.2 สัญญาที่ 2 งานโยธาจากบางซื่อ-รังสิต รวมสถานี 7 สถานี คือ จตุจักร บางเขน หลักสี่ ทุ่งสองห้อง เคหะ ดอนเมือง รังสิต วงเงิน 20,000 ล้านบาท
2.3 สัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลรวมสายบางซื่อ-ตลิ่งชันด้วย วงเงิน 27,325 ล้านบาท

3. กรอบวงเงินกู้ ไจก้ามีสองกรอบคือ
3.1 กรอบวงเงินที่จะเสนอขอกู้เงินจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) โดยประเมินตามหลักเกณฑ์ของทางไจก้า วงเงิน 89,695 ล้านบาท แบ่งเป็น

3.1.1 ค่างานโยธา 44,779 ล้านบาท
3.1.2 งานระบบไฟฟ้า เครื่องกล 13,372 ล้านบาท
3.1.3 ค่าตู้รถไฟฟ้า 6,560 ล้านบาท
3.1.4 ค่าจ้างที่ปรึกษา 3,353 ล้านบาท
3.1.5 ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 4,939 ล้านบาท
3.1.6 ค่า price escalation 11,606 ล้านบาท
3.1.7 ค่า adminstration cost 1,694 ล้านบาท
3.1.8 ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% วงเงิน 3,392 ล้านบาท
3.2 กรอบที่การรถไฟฯปรับใหม่ 75,548 ล้านบาท แยกเป็น
3.2.1 ค่างานโยธา 44,779 ล้านบาท
3.2.2 งานระบบไฟฟ้า เครื่องกล 13,372 ล้านบาท
3.2.3 ค่าตู้รถไฟฟ้า 6,131 ล้านบาท
3.2.4 ค่ารื้อย้าย 105 ล้านบาท
3.2.5 ค่าจ้างที่ปรึกษา 2,332 ล้านบาท
3.2.6 ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 1,381 ล้านบาท
3.2.7 ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% วงเงิน 1,295 ล้านบาท

"สาเหตุที่ไจก้าประเมินสูงเพราะมีการคิดค่าธรรมเนียมการเงินด้วย นอกจากนี้ยังรวมถึงการจัดซื้อรถไฟฟ้าของสายบางซื่อ-ตลิ่งชัน วงเงิน 3,589 ล้านบาท เข้าไปในรายการด้วย จึงทำให้วงเงินปรับใหม่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 75,548 ล้านบาท ส่วนการรื้อย้าย ไจก้าให้เป็นหน้าที่ของการรถไฟฯ ซึ่งในสายนี้ต้องรื้อมี 12 ชุมชน 1,236 ราย แต่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะใช้วงเงินไหนในการขอกู้"

ลุยรื้อย้าย 3,084 ครัว-ตอกเข็ม รถไฟสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน

Thannews 16/01/2009


ได้ฤกษ์ลงพื้นที่ก่อสร้างแล้วเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2552 สำหรับ "ยูนิค" (บริษัท ยูนิคเอ็นจิเนียรริ่ง จำกัด ) ผู้รับเหมาผู้กำชัย ก่อสร้างรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กิโลเมตร มูลค่า 8,784 ล้านบาท ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)


สิ่งที่เริ่มทันที คือ การเจรจารื้อย้าย อาคารบ้านเรือนที่ปลูกสร้างบุกรุกเขตทางของร.ฟ.ท. จำนวน 3,084 หลังคาเรือน โดยใช้งบประมาณรื้อย้าย 200 ล้านบาท ซึ่งจะรวมอยู่ในงบประมาณก่อสร้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นร.ฟ.ท.ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่คนที่รับหน้าเสื่ออย่าง"ยูนิค" คงต้องงัดสารพัดกลยุทธ์เพื่อให้ชาวบ้านยอมออกจากพื้นที่ !!!

จุดแรกเริ่มที่บริเวณบางซ่อนซึ่งอยู่ตรงข้ามกับคลองประปา ไม่ต่ำกว่า 500 หลังคาเรือน เพื่อให้ผู้รับเหมาใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานชั่วคราว และที่พักคนงาน ซึ่งล่าสุดได้ลงตรวจสอบพื้นที่แล้วและมองว่ามีความเหมาะสม หลังจากเจรจาและรื้อย้ายบ้านเรือนผู้บุกรุกออกจะเริ่มตอกเสาบริเวณดังกล่าวก่อนทันที

สำหรับโครงการก่อสร้าง รถไฟสายสีแดง ช่วง"บางซื่อ-ตลิ่งชัน " ใช้เวลาก่อสร้าง 1,100 วัน หรือเริ่มสัญญาตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม สิ้นสุดสัญญา วันที่ 19 มกราคม 2555 โดยมีทั้งหมด 3 สถานี เริ่มจาก สถานีตลิ่งชัน ซึ่งเป็นทางระดับดิน วิ่ง ตรงไปจะพบสถานีที่ 2 คือสถานีบางบำหรุ เป็นสถานีระดับดิน และสถานีสุดท้ายปลายทาง เป็นสถานีบางซ่อนเป็นสถานียกระดับ โครงการนี้จะเชื่อมต่อกับ รถไฟสายสีแดง ช่วง บางซื่อรังสิต ที่อยู่ระหว่าง รออนุมัติเงินกู้จาก ไจก้า(เจบิค) ซึ่งจะใช้อาณัติสัญญานเดินรถระบบเดียวกันทั้งสองช่วง นั่นหมายถึง ต้องรอให้รถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันก่อสร้างแล้วเสร็จจึงจะเปิดให้บริการได้


เรียกว่า คนกทม.และปริมณฑล กำลังจะได้ใช้รถไฟฟ้าและรถไฟเพิ่มขึ้นอีกสายหนึ่ง ในอีกไม่นานนี้ ถ้า ไม่เกิดปัญหา "ยืดเยื้อ" เพราะ ชาวบ้านไม่ยอมออกจากพื้นที่เสียก่อน!!

"ไจก้า"เบรกเงินกู้ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน

Thaipost 29 ธันวาคม 2551


"ไจก้า" ไฟเขียว ร.ฟ.ท.เปิดประมูลจัดหาระบบเดินรถและตัวรถสายสีแดงพร้อมกัน "ถวัลย์รัฐ" เผยญี่ปุ่นพร้อมให้กู้ช่วงบางซื่อ-รังสิต แต่ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ต้องหาในประเทศ หรือออกพันธบัตรแทน

นายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเจรจากู้เงินกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า) เพื่อดำเนินโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงบางซื่อ-รังสิต มูลค่า 77,563 ล้านบาท ว่า ล่าสุด ร.ฟ.ท.และไจก้าสามารถตกลงกันได้แล้ว โดยไจก้าให้ ร.ฟ.ท.กู้เงินมาดำเนินการก่อสร้างและจัดหาระบบกับตัวรถไฟฟ้าในช่วงบางซื่อ-รังสิต

ส่วนช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน มูลค่า 8,748 ล้านบาท ที่ ร.ฟ.ท.ขอกู้เงินจากไจก้าเพื่อมาจัดหาระบบและตัวรถอีก 3,840 ล้านบาทนั้น สรุปแล้ว ร.ฟ.ท.จะหาเงินจากแหล่งอื่น ซึ่งเป็นแหล่งเงินภายในประเทศ หรือการออกพันธบัตร โดยไจก้ายินยอมให้ ร.ฟ.ท.เปิดประมูลงานติดตั้งระบบและจัดหาตัวรถพร้อมกับช่วงบางซื่อ-รังสิต เพื่อให้การติดตั้งระบบมีความต่อเนื่องและเป็นระบบเดียวกัน

"เงินที่จะขอกู้จากไจก้าเพื่อมาจัดหาระบบและตัวรถช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ตกลงเขาไม่ยอมให้กู้ เหตุผลคือเขาคงกลัวว่าผู้รับเหมาญี่ปุ่นจะลำบากในเรื่องการไล่ที่ เพราะในทีโออาร์กำหนดให้ผู้รับเหมาเป็นคนทำ แต่ไจก้ายอมให้เราเปิดประมูลงานระบบและตัวรถช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน พร้อมช่วงบางซื่อ-รังสิตได้ ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของ ร.ฟ.ท.เพื่อให้ระบบมีความเชื่อมต่อกัน ไม่ใช่เปิดประมูลคนละที ผู้จัดหาคนละราย แล้วสุดท้ายเส้นทางเดียวกันกลับวิ่งต่อกันไม่ได้" นายถวัลย์รัฐกล่าว

นายถวัลย์รัฐกล่าวว่า เร็วๆ นี้จะขอลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ด ร.ฟ.ท. เพราะเป็นมารยาท เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เพื่อให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ได้พิจารณาและเลือกบุคคลากรที่มีความเหมาะสมต่อไป

ก่อนหน้านี้ บอร์ด ร.ฟ.ท.เคยมีความเห็นว่า หากไจก้าไม่ยอมให้ ร.ฟ.ท.กู้เงินเพิ่มอีก 3,840 ล้านบาท เพื่อมาลงทุนระบบและตัวรถไฟฟ้าช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน หรือไม่ยอมให้ ร.ฟ.ท.เปิดประมูลงานจัดหาดังกล่าวพร้อมช่วงบางซื่อ-รังสิต ก็อาจต้องเปลี่ยนแหล่งเงินกู้ เพราะบอร์ดเกรงว่า หากผู้จัดหาระบบและตัวรถไม่ใช่รายเดียวกัน จะทำให้เกิดปัญหาการเชื่อมต่อในภายหลังได้.

ปักหมุดรถไฟฟ้าสีแดงรฟท.เซ็นเงียบ8.7พันล.ยูนิคหนาวเคลียร์ผู้บุกรุก

มติชนออนไลน์ วันที่ 18 ธันวาคม 2551 - เวลา 17:50:43 น.

การรถไฟฯเซ็นเงียบยูนิคฯผุดรถไฟฟ้าสายสีแดง"บางซื่อ-ตลิ่งชัน"8.7พันล้าน เตรียมเข้าสำรวจพื้นที่15 ม.ค.ปีหน้า คาดเสร็จปี′54 ชี้อุปสรรคใหญ่เคลียร์ผู้บุกรุก

หลังดีเลย์มา 1 ปีเต็ม ในที่สุดการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ก็ได้กฤษ์ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 8,748.4 ล้านบาท เพราะที่สำนักงานอัยการสูงสุด ตรวจร่างสัญญาก่อสร้างแล้วเสร็จ บ่ายวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟฯ ก็ร่วมลงนามในสัญญาเงียบๆ กับกลุ่มกิจการร่วมค้ายูนิค-ชุนวู จอยต์เวนเจอร์ (บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และบริษัท Chun Wo Construction & Engineering ทันที
ล่าสุดผู้รับเหมาก่อสร้างแจ้งมายังการรถไฟฯแล้วว่า จะเข้าสำรวจพื้นที่ก่อสร้างในวันที่ 15 มกราคม 2552 เพื่อดูพื้นที่และตรวจสอบว่าจะมียอดผู้บุกรุกที่ต้องรื้อย้ายจริงจำนวนเท่าใด จากนั้นจะได้คำนวณค่าใช้จ่ายที่จะต้องจ่ายชดเชยให้กับผู้บุกรุก เพราะโครงการนี้เป็นสัญญาแบบล่ำซำ ผู้รับเหมาต้องควักกระเป๋าจ่ายเองเสร็จสรรพเพราะค่าใช้จ่ายทุกอย่างรวมเบ็ดเสร็จอยู่ในวงเงิน 8,748.4 ล้านบาทแล้ว ประกอบด้วย

1.งานก่อสร้างอาคารสถานีรถไฟตลิ่งชัน บางบำหรุ บางซ่อน และย่านสถานี
2.งานโครงสร้างทางรถไฟ และงานระบบรางขนาด 1 เมตร ระยะทาง 15.26 กิโลเมตร
3.งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลภายในอาคาร
4.ถนนเลียบทางรถไฟตลอดแนว 2 ข้างทางรถไฟ แบ่งเป็น 2 ช่วง เริ่มต้นบริเวณถนนประชาชื่นวิ่งเลียบทางรถไฟไปทางทิศตะวันตกสิ้นสุดก่อนข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และบริเวณถนนจรัญสนิทวงศ์วิ่งเลียบทางรถไฟไปทางทิศตะวันตกผ่านสถานีบางบำหรุ ตลิ่งชัน ฉิมพลี สิ้นสุดบริเวณทางตัดผ่านระหว่างทางรถไฟกับถนนวงแหวนรอบนอก พร้อมงานที่เกี่ยวข้องระยะทางรวมประมาณ 21.76 กิโลเมตร
5.งานระบบสาธารณูปโภค
6.งานรื้อย้ายชุมชนที่อยู่ในเขตพื้นที่โครงการมีการรื้อย้ายชุมชนที่มีสัญญาเช่ากับการรถไฟฯจำนวน 130 สัญญา ซึ่งผู้รับเหมาต้องเป็นผู้รื้อย้ายและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมด เช่น ค่ารื้อถอน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งพื้นที่ก่อสร้าง และจะต้องรับผิดชอบในแผนงานการดำเนินการ ต้องรับผิดชอบในกรณีที่การรถไฟฯอาจจะได้รับความเสียหายจากการถูกฟ้องร้องโดยผู้เช่า เนื่องจากการกระทำของผู้ยื่นข้อเสนอ
นอกจากนี้มีการรื้อย้ายผู้บุกรุกจำนวน 3,084 หลังคาเรือน
การรื้อย้ายสลัม 4 ภาค จำนวน 90 หลังคาเรือน
การรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างของการรถไฟฯอีกจำนวน 40 หลังคาเรือน
อย่างไรก็ตาม จากการประเมินของการรถไฟฯยอดชุมชนริมทางรถไฟตลอดแนวเส้นทางมีทั้งหมด 18 ชุมชน จำนวน 3,084 หลังคาเรือน ใช้ค่ารื้อย้ายราว 200-300 ล้านบาท โดยจ่ายแบบเหมาจ่าย 25,000-30,000 บาท/หลังคาเรือน ประกอบด้วย
1. ชุมชนโชติวัฒน์
2. ชุมชนบึงฝรั่ง
3. ชุมชนสุขสันต์
4. ชุมชน สุดซอยสมถวิล
5. สะพานดำ (บางซื่อ)
6. รอยยิ้มประยูรพัฒนา
7. สีน้ำเงิน
8. วัดเสาหิน
9. พระรามที่ 6
10. แพริมน้ำพระรามที่ 6
11. มงคลสุขและ
12.อะเมซอน
13. ริมทางรถไฟ (บางอ้อ)
14. วัดเพลง
15. วัดพิกุล
16. สะพานดำ (ตลิ่งชัน)
17. ริมทางรถไฟชัยพฤกษ์
18. ตลิ่งชัน และ
19. ฉิมพลี


แม้การรถไฟฯการันตีจะให้ความร่วมมือผู้รับเหมาด้านกฎหมายเต็มที่ หากมีข้อพิพาทถึงขั้นฟ้องร้องกันในศาล พร้อมเพิ่มเวลาการก่อสร้างให้ผู้รับเหมาออกไปอีก 200 วัน จากเดิม 900 วัน เป็น 1,100 วัน แต่ก็ไม่ได้ช่วยลดภาระผู้รับเหมาได้มากนัก ปัญหาใหญ่คือแต่ละชุมชนอาศัยอยู่กันมาหลายชั่วคน แถมบางพื้นที่มีกลุ่มผู้มีอิทธิพลคุมอยู่ ที่น่าหนักใจคือเฉพาะบริเวณฝั่งกรุงเทพฯ บริเวณชุมชนวัดสร้อยทอง ชุมชนสมถวิล ชุมชนตลาดบางซ่อน เนื่องจากมีผู้บุกรุกจำนวนมาก และแต่ละครอบครัวอยู่อาศัยมานานนับสิบปี ประกอบกับมีสิ่งกีดขวางการก่อสร้างหลายจุด อาทิ บริเวณจุดตัดทางรถไฟมีสะพานข้ามทางรถไฟด้านหน้าหมู่บ้านภานุรังสี ซึ่งไม่สามารถทุบทิ้งได้เนื่องจากเป็นจุดที่ประชาชนใช้สัญจรไปมา ปัญหาระบบสาธารณูปโภคทั้งประปา ไฟฟ้า บริเวณเชิงสะพานพระราม 7 เป็นต้น ตามแผนโครงการนี้จะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จปลายปี 2554 ขณะนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าจะใช้รถไฟดีเซลรางมาวิ่งหรือรถไฟฟ้า เพราะการรถไฟฯกำลังหาแหล่งเงินอยู่ อย่างไรก็ตามเมื่อเปิดใช้บริการจะช่วยลดระยะเวลาเดินทางสู่ภาคใต้ และรองรับผู้โดยสารจากตลิ่งชันไปยังบางซื่อไม่น้อยกว่า 35,000 คน/วัน เปิดพื้นที่การพัฒนาเพิ่มขึ้นอีก จากปัจจุบันแนวเส้นทางนี้มีหมู่บ้านจัดสรรเข้าไปปักหลักรอล่วงหน้าแล้วจำนวนมาก

รถไฟฟ้าสะดุด “ยูนิค” เบี้ยวยื่นซอง ต่อรอง ร.ฟ.ท.ปรับราคาใหม่

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 7 สิงหาคม 2551 15:21 น.

ร.ฟ.ท.เผยกลุ่ม UNIQ ชะลอยื่นซองราคารถไฟฟ้าสีแดง ร้องขอปรับขึ้นราคากลางค่าก่อสร้าง เนื่อจากต้นทุนพุ่งสูงขึ้น วันนี้ (7 ส.ค.) นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัท กิจการร่วมค้า UNIQUE-CHUN WO JOINT VENTURE ซึ่งเป็นเอกชนเพียงรายเดียวที่ผ่านคุณสมบัติเข้ายื่นซองเสนอราคาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ได้ร้องขอให้ ร.ฟ.ท.ปรับเพิ่มราคากลางค่าก่อสร้างตามต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การประมูลโครงการดังกล่าวมีขึ้นก่อนที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีมติอนุมัติให้หน่วยงานปรับราคากลางโครงการก่อสร้างต่างๆ ให้สอดคล้องกับต้นทุนปัจจุบัน ดังนั้น ร.ฟ.ท.จะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับผู้เกี่ยวข้องว่าผู้รับเหมามีสิทธิที่จะร้องขอให้ปรับเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้างหรือไม่ และ ร.ฟ.ท.มีสิทธิที่จะพิจารณาปรับเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้างให้ได้หรือไม่ สำหรับการประมูลโครงการนี้มีระยะทาง 15 กิโลเมตร วงเงิน 8,784 ล้านบาท มีกลุ่มบริษัทกิจการร่วมค้า UNIQUE-CHUN WO JOINT VENTURE ประกอบด้วย บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) และ Chun Wo Construction & Engineering Co.,Ltd ผ่านคุณสมบัติเพียงรายเดียว

แฉรถไฟมุบมิบ เซ็นสัญญายูนิค คว้าสายสีแดง

Thaipost 3 ธันวาคม 2551 กองบรรณาธิการ]

ร.ฟ.ท.อีกแล้ว! ปิดลับเซ็นสัญญาจ้าง "ยูนิค" ก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง 8.8 พันล้านบาท หลังจากเร่งรีบต่อสัญญา "เซ็นทรัล" ทิ้งทวนก่อนรัฐบาลใหม่เปลี่ยนขั้ว รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้มีการลงนามในสัญญาก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน กับกลุ่มกิจการร่วมค้ายูนิค-ซุนวู จอยท์เวนเจอร์ (บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น หรือ UNIQ และ บริษัท CHUNWO CONSTRUCTION & ENGINEERING CO.,LTD) วงเงิน 8,748.4 ล้านบาท อย่างไรก็ดี แม้นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.จะระบุว่า ก่อนหน้านี้ว่าจะมีการจัดพิธีลงนามและเชิญสื่อมวลชนร่วมในพิธีอย่างเป็นทางการ แต่เมื่อถึงวันเซ็นสัญญากลับมีการปกปิดเป็นความลับ แม้จะมีการสอบถามไปยัง ร.ฟ.ท. แต่ไม่มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่และเวลาในการเซ็นสัญญา โดยมีการกำชับผ่านเจ้าหน้าที่ ร.ฟ.ท.ว่า ไม่ต้องเชิญสื่อมวลชนไปทำข่าว นอกจากนี้ในส่วนของเจ้าหน้าที่ ร.ฟ.ท.ที่เกี่ยวข้องก็เพิ่งจะทราบในช่วงเช้าก่อนที่จะมีการเซ็นสัญญาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ก่อนหน้านี้ ร.ฟ.ท.รีบเร่งต่อสัญญาเช่าที่ดินพร้อมทรัพย์สินบริเวณสามเหลี่ยมย่านพหลโยธิน จำนวน 47.22 ไร่กับบริษัท เซ็นทรัลอินเตอร์พัฒนา จำกัด เป็นระยะ 20 ปี โดย ร.ฟ.ท.ได้ค่าตอบแทน 21,000 ล้านบาท

รถไฟเปิดหวูดสายสีแดงไม่รอ “อภิสิทธิ์”

Thairath 13 ธ.ค. 51 - 04:49]

นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ รฟท.ได้มีการลงนามในสัญญาก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน กับกลุ่มกิจการร่วมค้ายูนิค-ซุนวู จอยท์เวนเจอร์ หรือ UNIQ และบริษัท CHUNWO CONSTRUCTION & ENGINEERING CO.,LTD) วงเงิน 8,748.4 ล้านบาทแล้ว หลังจากนี้จะทำให้โครงการดังกล่าวสามารถเดินหน้าได้ หลังจากล่าช้ามานาน โดย รฟท.ตั้งเป้าจะสามารถเริ่มเดินหน้าก่อสร้างได้ในปี 2552 เพื่อให้โครงการระบบรางส่วนนี้เกิดขึ้น และเม็ดเงินลงทุนก็จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปีหน้าในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว นอกจากนี้ รฟท.ยังได้มีการลงนามในการต่อสัญญาเช่าที่ดินพร้อมทรัพย์สินบริเวณสามเหลี่ยมย่านพหลโยธินจำนวน 47.22 ไร่ กับบริษัทเซ็นทรัลอินเตอร์พัฒนา จำกัด ซึ่งเป็นการลงนามก่อนที่สัญญาจะครบกำหนดในวันที่ 18 ธ.ค. เพราะหากเซ็นสัญญาใหม่ไม่ทันก็จะส่งผลกระทบต่อปัญหาในข้อกฎหมาย รวมทั้งต่อรายได้ของ รฟท.ในอนาคตด้วย เพราะหากเลยกำหนดไปก็จะมีปัญหาข้อกฎหมายว่าใครจะมาเซ็นสัญญาดังกล่าวย้อนหลัง รวมทั้งอาจมีปัญหาการส่งมอบพื้นที่ เนื่องจากสัญญาใหม่เป็นการเช่าที่ดินรวมสิ่งปลูกสร้างด้วย.

ร.ฟ.ท.หยวนเงื่อนไข"ไจก้า" รับงานรื้อย้ายผู้บุกรุกเอง

วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11190 มติชนรายวัน


นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่กระทรวงการคลังแจ้งว่าธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) ผู้สนับสนุนเงินกู้ให้กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ได้ควบรวมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ส่งผลให้ ร.ฟ.ท.ต้องรอข้อสรุปเรื่องเงินกู้กับทางไจก้าอีกครั้ง เบื้องต้นไจก้าได้แสดงความเป็นห่วงในเรื่องการรื้อย้ายที่อยู่อาศัย สิ่งปลูกสร้างของผู้บุกรุกที่ดิน ซึ่งทาง ร.ฟ.ท.ต้องการให้เอกชนผู้ก่อสร้างเป็นผู้รับผิดชอบในการไล่รื้อผู้บุกรุก แต่ไจก้าต้องการให้ ร.ฟ.ท.เป็นผู้ดำเนินการเอง รวมถึงการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้บุกรุกหลังการรื้อย้าย หากไทยสามารถดำเนินการได้ ทางไจก้าก็พร้อมปล่อยกู้ให้กับรัฐบาลไทย "ร.ฟ.ท.พร้อมจะรับผิดชอบในการไล่ที่ผู้บุกรุกเอง ภายใต้เงื่อนไขเดียวกับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน อย่างไรก็ตาม ร.ฟ.ท.ได้นำงบฯการรื้อย้ายไปรวมกับงบฯค่าก่อสร้างไว้แล้ว ดังนั้นเอกชนผู้รับสัมปทานจะต้องรับผิดชอบในส่วนนี้" นายยุทธนากล่าวว่า คาดว่าจะใช้งบประมาณในการขับไล่ผู้บุกรุกที่อาศัยอยู่พื้นที่ก่อสร้างประมาณ 150 ล้านบาท เพื่อชดเชยครัวเรือน 1,200 ครัวเรือน โดยมีทั้งค่าใช้จ่ายในการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการหาที่อยู่อาศัยใหม่ ส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง "ร.ฟ.ท.ยินยอมที่จะกู้เงินตามเงื่อนไขของไจก้า โดยการยินยอมซื้อเครื่องมือหรืออุปกรณ์การก่อสร้างจากญี่ปุ่นมากถึง 30% ซึ่งเรื่องดังกล่าวทาง ร.ฟ.ท.ได้เสนอต่อคณะกรรมการบริหาร ร.ฟ.ท.ไปแล้ว และขณะนี้ก็รอให้ทางไจก้าพิจารณาข้อเสนอที่ทางการรถไฟฯได้เสนอไป แต่คาดว่าจะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด"

ไจก้าตั้งเงื่อนไขให้ รฟท.แก้ปัญหาบุกรุกแนวเขตทางรถไฟฟ้าสายสีแดงก่อนปล่อยกู้

กรุงเทพฯ 28 ต.ค.51 - นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า จากกรณีที่กระทรวงการคลังได้แจ้งว่าหน่วยงานที่พิจารณาเรื่องเงินกู้โครงการรถไฟฟ้าได้เปลี่ยนจากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือเจบิก เป็นองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น หรือไจก้า ในส่วนของสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต ที่ต้องกู้เงินจากไจก้า จึงต้องรอข้อสรุปจากไจก้าอีกครั้ง นายยุทธนา กล่าวว่า ในเบื้องต้นทางไจก้าได้แสดงความเป็นห่วงในส่วนของการรื้อย้ายที่อยู่อาศัย สิ่งปลูกสร้างของผู้บุกรุก ที่เดิม รฟท.ต้องการให้เอกชนผู้ก่อสร้างเป็นผู้ดำเนินการ แต่ทางไจก้าต้องการให้ รฟท.เป็นผู้ดำเนินการเอง รวมถึงการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้บุกรุกหลังการรื้อย้าย ซึ่งหากไทยสามารถดำเนินการได้ ทางไจก้าก็พร้อมปล่อยกู้ให้กับรัฐบาลไทย ซึ่ง รฟท.พร้อมจะรับผิดชอบในการสะสางปัญหาผู้บุกรุกเองภายใต้เงื่อนไขเดียวกับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่ รฟท.ใช้งบประมาณก่อสร้างเอง แต่งบประมาณในส่วนนี้ รฟท.ได้นำไปรวมกับงบประมาณการก่อสร้างไว้แล้ว ซึ่งทางเอกชนผู้รับสัมปทานจะต้องรับผิดชอบในส่วนนี้ สำหรับงบประมาณที่จะใช้ในการแก้ปัญหาผู้บุกรุกที่อาศัยอยู่พื้นที่ก่อสร้างคาดว่าจะใช้ประมาณ 150 ล้านบาท จำนวนครัวเรือน 1,200 ครัวเรือน รวมถึงจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการหาที่อยู่อาศัยใหม่ ส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง ซึ่งก็มั่นใจว่าทางไจก้าจะเข้าใจและไม่นำประเด็นดังกล่าวมาเป็นเงื่อนไขไม่อนุมัติเงินกู้ให้กับ รฟท. และ รฟท.ยังยินยอมที่จะกู้เงินตามเงื่อนไขของไจก้า โดยการยินยอมซื้อเครื่องมือหรืออุปกรณ์การก่อสร้างจากญี่ปุ่นมากถึงร้อยละ 30 ซึ่งเรื่องดังกล่าวทาง รฟท.ได้เสนอต่อคณะกรรมการบริหารไปแล้ว และขณะนี้ก็รอให้ทางไจก้าพิจารณาข้อเสนอของ รฟท. แต่คาดว่าจะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด. - สำนักข่าวไทย

"สันติ"ข้องใจโยนผู้รับเหมาไล่ผู้บุกรุก หวั่น"เจบิค"ตั้งแง่ให้กู้รถไฟฟ้าสีแดง

วันที่ 01 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11162 มติชนรายวัน

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และบางซื่อ-รังสิต ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการ ร.ฟ.ท.อนุมติให้บริษัท ยูนิกิจการร่วมค้ายูนิค-ชุนวู จอยท์เวนเจอร์ ชนะการประกวดราคาว่า คนเห็นเงื่อนไขของ ร.ฟ.ท.ที่กำหนดให้ผู้รับเหมาต้องเป็นผู้ไล่รื้อผู้บุกรุกตามแนวเส้นทางการก่อสร้าง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน เป็นเงื่อนไขที่ค่อนข้างประหลาดและไม่มีที่ไหนทำกันเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการรื้อย้ายผู้บุกรุกน่าจะสามารถลุล่วงไปได้ และคงไม่เป็นอุปสรรคในการปล่อยกู้ของธนาคารเพื่อความร่วมมือแห่งญี่ปุ่น (เจบิค) แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าวว่า เจบิคให้ความสำคัญเรื่องการรื้อย้ายผู้บุกรุกอย่างมาก เพราะไม่ต้องการให้เป็นอุปสรรคต่อผู้รับเหมาต่างชาติที่จะเข้าร่วมประกวดราคา ซึ่งการกำหนดให้ผู้รับเหมาเป็นผู้ดำเนินการรื้อย้ายผู้บุกรุกเช่นเดียวกับโครงการสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน อาจส่งผลให้ผู้รับเหมาต่างชาติเห็นว่าเป็นข้อจำกัดและไม่เข้าประกวดราคา ซึ่งเจตนารมณ์ของเจบิคต้องการให้เงื่อนไขเปิดกว้างและมีผู้เข้าประกวดราคาหลายราย ส่วนกรณีของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งใช้เงินกู้เจบิคในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง แต่ไม่มีเงื่อนไขเรื่องการรื้อย้ายเป็นเพราะ รฟม.สามารถออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินได้ โดยใช้กฎหมายบังคับซื้อคืนที่ดิน แต่ในกรณีของ ร.ฟ.ท. เป็นที่ดินของ ร.ฟ.ท.ที่ถูกบุกรุกพื้นที่จึงไม่สามารถออกพระราชกฤษฎีได้ และกฎหมายไม่ได้รองรับให้จ่ายเงินแก่ผู้บุกรุกด้วย

ไฟเขียวกลุ่มยูนิคสร้างรถไฟสีแดงบางซื่อ-ตลิ่งชัน

โดย ผู้จัดการรายวัน 30 กันยายน 2551 10:14 น.

ผู้จัดการรายวัน-บอร์ดร.ฟ.ท.เห็นชอบจ้างกลุ่มยูนิค ก่อสร้างรถไฟสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันคาดลงนามก่อสร้างต.ค.นี้ ขณะที่ช่วงบางซื่อ-รังสิต ยังติดเงื่อนไขเงินกู้เจบิก นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการที่มีนายชัยสวัสดิ์ กิตติพรไพบูลย์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน วานนี้ (29 ก.ย.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบผลการประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่กลุ่มกิจการร่วมค้า ยูนิค-ซุนวู จอยท์เวนเจอร์ (บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ และ บริษัท CHUNWO CONSTRUCTION & ENGINEERING CO.,LTD) เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกโดยเสนอค่าก่อสร้างต่ำกว่าราคากลาง 1,000 บาท โดยราคากลางอยู่ที่ 8,748.40 ล้านบาท
โดยจากนี้ จะเสนอเรื่องไปยังสำนักงบประมาณเพื่อดำเนินการด้านงบประมาณตามขั้นตอน และส่งให้อัยการตรวจสอบร่างสัญญาก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญาก่อสร้างซึ่งคาดว่าจะลงนามได้ประมาณเดือนต.ค.นี้ ส่วนการประกวดราคาก่อสร้างโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต นั้น ได้มีการถอนวาระออกไป โดยนายยุทธนากล่าวว่า เนื่องจากมีบางเงื่อนไขจากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) ที่ร.ฟ.ท.ยังยอมรับไม่ได้ และต้องหารือกับสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เพื่อหาทางออก โดยเงื่อนไขของเจบิกที่ยังมีปัญหา คือ จะให้ ร.ฟ.ท.กู้เงินก็ต่อเมื่อทำการรื้อย้ายชุมชนในเขตพื้นที่ก่อสร้างให้เสร็จเรียบร้อยภายใน 1 ปี โดยต้องจ่ายค่าชดเชยและจัดหาที่อยู่อาศัยใหม่ที่เหมาะ สม รวมทั้งติดตามด้วยว่าผู้ถูกรื้อย้ายมีสภาพความเป็นอยู่ดีพอหรือไม่ ซึ่ง ร.ฟ.ท.เห็นว่าเงื่อนไขดังกล่าวเป็นไปได้ยาก โดยตามแนวเส้นทางโครงการต้องมีการรื้อย้ายชุมชนกว่า 1,000 หลังคาเรือนคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณ105 ล้านบาท ยากที่ร.ฟ.ท.จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี และจะทำให้เสียเวลาเปล่าหากทำไม่ได้และเจบิกไม่ให้กู้ และอาจถูกตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เรื่องความไม่โปร่งใสด้วย สำหรับประเด็นเรื่องการเชื่อมต่อโครงการกับ โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกับสถานีรับ-ส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (แอร์พอร์ตลิงค์) ซึ่งมีปัญหาเรื่องขนาดราง โดยรถไฟสายสีแดงใช้รางขนาด 1 เมตร (Meter Gauge) ส่วนแอร์พอร์ตเรลลิงค์ใช้รางขนาด 1.435 เมตร (Standad Gauge)

"เจบิค"พับเงินกู้ รถไฟฟ้าสีแดง บีบไล่รื้อชุมชน

Thaipost 30 กันยายน 2551 กองบรรณาธิการ

นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ที่มีนายชัยสวัสดิ์ กิตติพรไพบูลย์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเมื่อวันที่ 29 ก.ย. ร.ฟ.ท.ต้องถอนเรื่องการพิจารณาการประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ออก เนื่องจากไม่สามารถรับเงื่อนไขของธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิค) ได้ โดยเจบิคจะให้ ร.ฟ.ท.กู้เงินต่อเมื่อทำการรื้อย้ายชุมชนในเขตพื้นที่ก่อสร้างให้เสร็จเรียบร้อยภายใน 1 ปี และต้องจ่ายค่าชดเชยและจัดหาที่อยู่อาศัยใหม่ที่เหมาะสม รวมทั้งติดตามด้วยว่าผู้ถูกรื้อย้ายมีสภาพความเป็นอยู่ดีพอหรือไม่ ซึ่ง ร.ฟ.ท.เห็นว่าเป็นไปได้ยากที่จะดำเนินการตามเงื่อนไขดังกล่าว ทั้งนี้ ตลอดแนวเส้นทางช่วงบางซื่อ-รังสิต ต้องรื้อย้ายชุมชนกว่า 1,000 หลังคาเรือน ใช้งบประมาณ 105 ล้านบาท และส่วนใหญ่เป็นผู้บุกรุกที่ยากต่อการขับไล่ จึงเป็นไปได้สูงว่า ร.ฟ.ท.จะรื้อย้ายไม่เสร็จภายใน 1 ปี ซึ่งสุดท้ายหากเจบิคไม่ยอมให้กู้จะกลายเป็นการเสียเปล่าไปทันที และอาจถูกตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เรื่องความไม่โปร่งใสด้วย ด้านนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม กล่าวภายหลังเข้าทำงานเป็นวันแรก ว่า จะสานต่อนโยบายเดิมจากรัฐบาลชุดก่อน โดยเฉพาะเร่งรัดโครงการรถไฟฟ้า 9 เส้นทาง การก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 การจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน เป็นต้น.

รถไฟฟ้าสะดุด “ยูนิค” เบี้ยวยื่นซอง ต่อรอง ร.ฟ.ท.ปรับราคาใหม่

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 7 สิงหาคม 2551 15:21 น.

ร.ฟ.ท.เผยกลุ่ม UNIQ ชะลอยื่นซองราคารถไฟฟ้าสีแดง ร้องขอปรับขึ้นราคากลางค่าก่อสร้าง เนื่อจากต้นทุนพุ่งสูงขึ้น วันนี้ (7 ส.ค.) นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัท กิจการร่วมค้า UNIQUE-CHUN WO JOINT VENTURE ซึ่งเป็นเอกชนเพียงรายเดียวที่ผ่านคุณสมบัติเข้ายื่นซองเสนอราคาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ได้ร้องขอให้ ร.ฟ.ท.ปรับเพิ่มราคากลางค่าก่อสร้างตามต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การประมูลโครงการดังกล่าวมีขึ้นก่อนที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีมติอนุมัติให้หน่วยงานปรับราคากลางโครงการก่อสร้างต่างๆ ให้สอดคล้องกับต้นทุนปัจจุบัน ดังนั้น ร.ฟ.ท.จะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับผู้เกี่ยวข้องว่าผู้รับเหมามีสิทธิที่จะร้องขอให้ปรับเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้างหรือไม่ และ ร.ฟ.ท.มีสิทธิที่จะพิจารณาปรับเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้างให้ได้หรือไม่ สำหรับการประมูลโครงการนี้มีระยะทาง 15 กิโลเมตร วงเงิน 8,784 ล้านบาท มีกลุ่มบริษัทกิจการร่วมค้า UNIQUE-CHUN WO JOINT VENTURE ประกอบด้วย บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) และ Chun Wo Construction & Engineering Co.,Ltd ผ่านคุณสมบัติเพียงรายเดียว

"ยูนิค"คว้าเค้กประมูลรถไฟสายสีแดง กลุ่มซินเทคฯตกกระป๋อง-เดินหน้าฟ้องศาลปกครอง

ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 4004 (3204)

"ยูนิค" คว้าเค้กรถไฟชานเมืองสายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน 8.7 พันล้านบาท การรถไฟฯ ฟันธงชัน ตัดสิทธิ์ "กลุ่มซินเทคฯ" เหตุจากตกคุณสมบัติ เมินคำอุทธรณ์ เตรียมเสนอบอร์ดเรียก "ยูนิค" มาเจรจาต่อรองราคา ชี้ทีโออาร์เปิดช่องให้ทำได้แม้เหลือรับเหมาแค่รายเดียว ฟาก "ซินเทค" เดินหน้าอุทธรณ์ศาลปกครอง แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า คณะกรรมการประกวดราคาก่อสร้างโครง การรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กิโลเมตร ราคากลาง 8,784 ล้านบาท ที่มีนายนคร จันทรศร รองผู้ว่าและรักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.ได้ตัดสิทธิ์กลุ่มกิจการร่วมค้าเอสทีซีซี จอยต์เวนเจอร์ ซึ่งประกอบด้วยบริษัท ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ทิพากร จำกัด และบริษัท ไชน่าสเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริง คอร์เปอเรชั่น ไม่ให้มีสิทธิ์ยื่นซองประมูลโครงการดังกล่าว และได้ทำหนังสือแจ้งให้กลุ่มกิจการร่วมค้าเอสทีซีซี จอยต์เวนเจอร์ทราบแล้ว
โดยระบุสาเหตุว่ามาจากความผิดพลาดเรื่องเอกสารแปลที่ไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขทีโออาร์ ขณะเดียวกันบริษัทได้ทำเรื่องอุทธรณ์มายังคณะกรรมการ โดยยืนยันว่าดำเนินการทุกอย่างถูกต้อง แต่คณะกรรมการเห็นว่าการอุทธรณ์ไม่เป็นผล เนื่องจากมีหลักฐานชัดเจนว่าบริษัทขาดคุณสมบัติ จึงไม่ผ่านเกณฑ์ที่จะพิจารณา ซองราคาในขั้นตอนต่อไป แต่ให้สิทธิ์บริษัทยื่นอุทธรณ์เรื่องดังกล่าวที่ศาลปกครองได้ ในการประชุมบอร์ดวันที่ 26 พฤษภาคม จะรายงานเรื่องนี้ให้บอร์ดทราบ และรายงานว่าจะเชิญทางกลุ่มกิจการร่วมค้ายูนิค-ชุนวู จอยต์เวนเจอร์ (บริษัท ยูนิคเอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท Chun Wo Construction & Engineering) ซึ่งเป็นผู้ยื่นซองอีกรายหนึ่งมาเจรจาต่อรองราคา โดยไม่ต้องเคาะราคาเพราะทีโออาร์กำหนดไว้ชัดเจนว่า แม้เหลือผู้รับเหมารายเดียวก็ให้สามารถเจรจาต่อรองราคาได้เลย นายสมชาย ศิริเลิศพาณิชย์ กรรมการ ผู้จัดการ บมจ.ซินเทค คอนสตรัคชั่น เปิดเผยว่า บริษัทได้ทำเรื่องอุทธรณ์ไปยัง ร.ฟ.ท. กรณีถูกตัดสิทธิ์ยื่นซองรถไฟฟ้าสายสีแดงแล้ว เนื่องจากเอกสารที่ใช้ประกอบการยื่นซองประมูล เป็นเอกสารชุดเดียวที่ยื่นประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-แหลมฉบัง ซึ่งผ่านการพิจารณา และกำลังจะยื่นอุทธรณ์ที่ศาลปกครอง นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้ ร.ฟ.ท.พิจารณาคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง แล้วค่อยเสนอให้กระทรวงคมนาคมทราบ และไม่น่าจะมีปัญหาถ้าจะให้ผู้รับเหมารายเดียวที่ผ่านคุณสมบัติมาเจรจาต่อรองราคา เพราะโครงการนี้เป็นโครงการเร่งด่วน ถ้าได้ตัวผู้รับเหมาเร็ว งานก่อสร้างจะเร็วตามไปด้วย ปีนี้คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้

เพิ่มรถไฟชานเมือง 3 สาย

คัดย่อจาก ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3988 (3188)

ระบบรถไฟชานเมืองจะเป็นโครงสร้างทางยกระดับ ส่วนรางจะใช้ได้ทั้ง 2 ระบบ คือ รถไฟดีเซลรางและรถไฟฟ้าชานเมือง วัตถุประสงค์เพื่อต้องการแก้ไขปัญหาจุดตัดบริเวณทางแยก โดยมีศูนย์กลางสถานีร่วมที่สถานีบางซื่อ ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางคมนาคม มี 3 สาย ได้แก่

1."สายบางซื่อ-ตลิ่งชัน" วงเงิน 8,971 ล้านบาท หน่วยงานหลัก คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดประกวดราคาแล้วปลายปี 2550 อยู่ระหว่างพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้รับเหมา 2 ราย คือ บริษัทยูนิคและซินเทค มีกำหนดเซ็นสัญญาเดือนพฤษภาคมนี้ โดยแนวเส้นทางจะวิ่งไปตามทางรถไฟสายใต้ เริ่มจากสถานีบางซื่อไปจนสุดเส้นทางที่สถานีตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กิโลเมตร มี 3 สถานี คือ สถานีบางซ่อน สถานีบางบำหรุ และสถานีตลิ่งชัน

2."สายบางซื่อ-รังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" วงเงิน 63,774 ล้านบาท ขายแบบเดือนมิถุนายนนี้ แนวสายทางวิ่งไปตามแนวเส้นทางรถไฟสายเหนือ โดยใช้โครงสร้างโฮปเวลล์เดิม ปัจจุบัน สนข.อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียดโดยเพิ่มเติมจากเดิมสิ้นสุดแค่รังสิตต่อขยายออกไปถึง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมระยะทาง 36 กิโลเมตร คาดว่าแบบจะแล้วเสร็จเดือนเมษายนนี้
จุดจอดสถานีมีทั้งหมด 12 สถานี ประกอบด้วย จตุจักร วัดเสมียนนารี บางเขน ทุ่งสองห้อง หลักสี่ การเคหะ ดอนเมือง หลักหก รังสิต คลองหนึ่ง เชียงราก และปลายทางที่ ม.ธรรมศาสตร์

3."สายบางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก" ระยะทาง 19 กิโลเมตร วงเงิน 37,000 ล้านบาท ขายแบบเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยแนวเส้นทางจะวิ่งคู่ขนานไปกับรถไฟฟ้าเชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิ หรือสายแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (พญาไท-มักกะสัน-สุวรรณภูมิ) ทั้งนี้ถือว่ารถไฟชานเมืองสายนี้เป็นสายที่สำคัญ เพราะเป็นเส้นทางที่จะเชื่อมระหว่าง 2 สนามบิน คือ สนามบินดอนเมืองกับสุวรรณภูมิ โดยเชื่อมกับรถไฟสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และสายแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จึงทำให้ในการประชุม "คณะกรรมการขนส่งระบบราง" มีมติให้เร่งสร้างรถไฟสายนี้ โดยบรรจุเข้าไปในแผนเร่งด่วนระยะแรก โดยแนวเส้นทางจะใช้แนวเส้นทางรถไฟเดิม คือ สถานีสามเสน สถานีร่วมรามาธิบดี จากนั้นจะแยกเป็น 2 เส้น เส้นแรก เลี้ยวไปทางมักกะสัน สถานีต่อจากสถานีร่วมรามาธิบดี จะเป็นสถานีพญาไท สถานีมักกะสัน สถานีรามคำแหง และสิ้นสุดที่สถานีหัวหมาก เส้นที่สอง เส้นต่อจากสถานีร่วมรามาธิบดี จะเป็นสถานียมราช สถานียศเส และปลายทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดินที่สถานีหัวลำโพง รถไฟฟ้าชานเมือง ขายแบบปี 2552

เล็งโยก 1,023 หลังคาเรือน เคลียร์พื้นที่ผุดรถไฟฟ้ามิสซิ่งลิงก์

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2307 23 มี.ค. - 26 มี.ค. 2551


เตรียมรื้อย้าย 7 ชุมชน 1,023 หลังคาเรือน เคลียร์พื้นที่เตรียมสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง Missing Link 14.5 กม. สนข.เร่งสรุปผลการออกแบบรายละเอียดจบใน เม.ย.นี้ เตรียมชงครม. ขออนุมัติก่อสร้างเร็วๆ นี้ เล็งเปิดประมูลไม่เกิน พ.ย. 51 คาดใช้เงินลงทุน 2.5 หมื่นล้านบาท นายประณต สุริยะ รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวภายหลังการเปิดการสัมมนารับฟังความเห็นครั้งที่ 2 โครงการศึกษารูปแบบที่เหมาะสมของระบบรถไฟสายสีแดง ผ่านบริเวณสถานีรถไฟจิตรลดา และการออกแบบรายละเอียดระบบรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน หรือ Missing Link ว่า โครงการนี้ถือเป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมต่อการขนส่งมวลชนทางราง เพราะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างศูนย์คมนาคมพหลโยธิน คือสถานีบางซื่อ และศูนย์คมนาคมมักกะสัน ซึ่งคาดว่าจะออกแบบแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนนี้ จากนั้นจะส่งมอบรายละเอียดให้กระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติก่อสร้างโครงการต่อไป ทั้งนี้คาดว่าจะเปิดประกวดราคาได้ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้ และจะเริ่มก่อสร้างได้ต้นปี 2552 ทั้งนี้ ในการสัมมนา กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาได้นำเสนอรูปแบบของโครงการในแนวเหนือ-ใต้ ว่าเป็นโครงสร้างเริ่มจากระดับดินที่บริเวณสถานียศเส ลอดใต้สะพานกษัตริย์ศึกข้ามคลองมหานาค ในระดับดิน แล้วจะเปลี่ยนเป็นโครงสร้างแบบคลองแห้งลอดผ่านถนนเพชรบุรี โดยจะยังคงสะพานข้ามทางแยกยมราชไว้ แล้ววิ่งลอดถนนศรีอยุธยา ถนนราชวิถี คลองสามเสน ถนนนครชัยศรี ถนนเศรษฐศิริ ถนนระนอง 1 แล้วยกระดับรางขึ้นเชื่อมกับทางรถไฟยกระดับสายรังสิต-บางซื่อ ส่วนอีกเส้นทางหนึ่ง เป็นแนวตะวันออก-ตะวันตก เริ่มจากสถานีมักกะสัน เป็นโครงสร้างยกระดับ ที่เชื่อมทางรถไฟยกระดับสายสีแดงช่วงหัวหมาก-มักกะสัน และจะลดระดับข้ามคลองมักกะสันแล้วเปลี่ยนเป็นโครงสร้างชนิดคลองแห้ง ลอดสะพานทางด่วนสายเฉลิมมหานครถนนราชปรารภ ถนนพญาไท บริเวณสถานีพญาไท ลอดผ่านถนนพระราม 6 ถนนศรีอยุธยา เพื่อบรรจบกับแนวเหนือ-ใต้ รวมระยะทาง 14.5 กิโลเมตร มี 5 สถานี คือ สถานียศเส เป็นสถานีระดับดิน ส่วนอีก 4 สถานี คือ สถานียมราช สถานีพญาไท สถานีราชวิถี และสถานีสามเสน จะเป็นสถานีใต้ดิน ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทที่ปรึกษายังได้สรุปข้อมูลเบื้องต้นด้วยว่า ตลอดแนวเส้นทางโครงการจะไม่มีการเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เนื่องจากจะก่อสร้างในแนวเส้นทางรถไฟที่มีอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ดี จะต้องมีการโยกย้ายชุมชนที่อยู่ในแนวเขตทางออกจากพื้นที่ด้วยรวม 7 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนริมทางรถไฟสายแปดริ้ว ชุมชนหลังบ้านมนังคศิลา ชุมชนคลองส้มป่อย ชุมชนโค้งรถไฟยมราช ชุมชนหลังกรมทางหลวง ชุมชนซอยดงบุหงา ชุมชนสระแก้ว และชุมชนหลังโรงพยาบาลเดชา รวมจำนวนครัวเรือน 1,023 หลังคาเรือน สำหรับมูลค่าการลงทุนนั้น ประเมินในเบื้องต้นว่าต้องใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 25,106.8 ล้านบาท แบ่งเป็นค่างานโยธา อาคารและสถาปัตยกรรม 14,935.5 ล้านบาท งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 1,738 ล้านบาท ค่าจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า 4,980 ล้านบาท ค่าบริหารโครงการ 799 ล้านบาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,571.7 และค่าเผื่อเหลือเผื่อขาดอีก 1,062.7 ล้านบาท โดยจะใช้เวลาในการดำเนินการ 4 ปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างต้นปี 2552 จะแล้วเสร็จในปลายปี 2554 และจะสามารถเปิดให้บริการได้ช่วงต้นปี 2555

เปิดประมูลสายสีแดงบางซื่อ-มักกะสัน ต.ค.นี้

Dailynews 20/03/2008

เมื่อวันที่ 19 มี.ค. สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดสัมมนารับฟังความเห็นครั้งที่ 2 โครงการศึกษารูปแบบที่เหมาะสมของระบบรถไฟสายสีแดงผ่านบริเวณสถานีรถไฟจิตรลดาและการออกแบบรายละเอียดระบบรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน หรือ Missing Link โดยบริษัทที่ปรึกษานำเสนอรูปแบบโครงการในแนวเหนือ-ใต้เป็นโครงสร้างเริ่มจากระดับดินบริเวณสถานียศเสลอดใต้สะพานกษัตริย์ศึกข้ามคลองมหานาคในระดับดินแล้วเปลี่ยนเป็นโครงสร้างแบบคลองแห้งลอดถนนเพชรบุรี โดยยังคงสะพานข้ามทางแยกยมราชไว้ แล้วลอดถนนศรีอยุธยาถนนราชวิถี คลองสามเสน ถนนนครชัยศรี ถนนเศรษฐศิริ ถนนระนอง 1 แล้วยกระดับรางขึ้นเชื่อมกับทางรถไฟยกระดับช่วงรังสิต-บางซื่อ อีกเส้นทางหนึ่งในแนวตะวันออก-ตะวันตกเริ่มจากสถานีมักกะสันเป็นโครงสร้างยกระดับเชื่อมทางรถไฟยกระดับสายสีแดงช่วงหัวหมาก-มักกะสันลดระดับข้ามคลองมักกะสันเปลี่ยนเป็นโครงสร้างชนิดคลองแห้งลอดสะพานทางด่วนสายเฉลิมมหานครถนนราชปรารภ ถนนพญาไทบริเวณสถานีพญาไท ลอดถนนพระราม 6 ถนนศรีอยุธยา เชื่อมกับแนวเหนือ-ใต้ ระยะทาง 14.5 กม. มี 5 สถานี คือ

1. สถานียศเส (กม. 1) เป็นสถานีระดับดินเพียงสถานีเดียว

ที่เหลืออีก 4 สถานี ได้แก่

2. สถานียมราช

3. สถานีพญาไท

4. สถานีรามาธิบดี และ

5.สถานีสามเสน

เป็นสถานีใต้ดิน งบก่อสร้าง 25,000 ล้านบาท นายประณต สุริยะ รองผู้อำนวย สนข. เปิดเผยว่า โครงการนี้ถือเป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมต่อการขนส่งทางรางเพราะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างศูนย์คมนาคมพหลโยธินคือ สถานีบางซื่อ กับศูนย์มักกะสันขณะนี้ออกแบบรายละเอียดเกือบแล้วเสร็จ 100% คาดว่าจะเรียบร้อยภายในเดือน เม.ย. นี้หลังจากนั้นจะมอบให้กระทรวงคมนาคมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติก่อสร้างโครงการต่อไป คาดว่าจะเปิดประกวดราคาได้ประมาณเดือน ต.ค.-พ.ย. นี้ จะก่อสร้างได้ต้นปี 2552 ใช้เวลาในการก่อสร้าง 4 ปี ซึ่งระหว่างการก่อสร้างจะไม่มีผลกระทบต่อการเดินรถไฟในปัจจุบันอีกทั้งจะไม่ส่งผลกระทบต่อการจราจรบนถนนบริเวณจุดตัดทางรถไฟที่สำคัญเช่น แยกยมราช แยกเสาวณีย์ แยกอุภัยเจษฎทิศ เป็นต้น เพราะเป็นการก่อสร้างโครงสร้างใต้ดิน.

เลือกบริษัทที่ปรึกษาคุมงาน รถไฟสาย 'บางซื่อ-ตลิ่งชัน'

Thairath [29 ม.ค. 51 - 04:16]


รายงานข่าวจากการถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่า รฟท.มีความประสงค์ที่จะหาบริษัทที่ปรึกษาเพื่อควบคุมงานก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยวิธีการคัดเลือกให้เหลือน้อยราย (Short List) ไม่เกิน 6 ราย ก่อนเชิญชวนเฉพาะผู้ที่อยู่ใน Short List มาเสนอโครงการต่อไป สำหรับหน้าที่ของที่ปรึกษาต้องควบคุมการก่อสร้างโครงการให้เป็นไปตามรูปแบบรายละเอียดและข้อกำหนดตามสัญญาจ้างก่อสร้างทุกประการ ประกอบด้วย

1. งานโยธาของโครงสร้างทางยกระดับทางเสมอระดับ สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

2. อาคารสถานีตลิ่งชัน บางบำหรุ บางซ่อน พร้อมย่านจอดสับเปลี่ยนขบวนรถ ฯลฯ

3. งานระบบทางขนาดทางรถไฟกว้าง 1 ม.

4. งานถนนเลียบทางรถไฟระยะทาง 21.76 กม.

5. งานรื้อย้ายชุมชนงานเตรียมงานโยธา เพื่อรองรับการติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล

โดยงานก่อสร้างมีกำหนดแล้วเสร็จในระยะเวลา 1,100 วัน บริษัทที่สนใจสามารถส่งเอกสารเข้าร่วมการคัดเลือกได้ในวันที่ 18 ก.พ.นี้ เวลา 09.00-12.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0-2220-4774
สำหรับการประกวดราคาหาเอกชนมาก่อสร้างโครงการนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาคัดเลือกผู้รับเหมา มีผู้มายื่นเอกสารประกวดราคาทั้งสิ้น 2 ราย คือ

1. กลุ่มบริษัท STCC JOINT VENTURE ประกอบด้วย บริษัทซินเท็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัททิพากร จำกัด บริษัทไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอ็นยิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด และ

2. กลุ่มบริษัท Unique-Chun Wo JointVenture ซึ่งประกอบด้วย บริษัทยูนิค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)

ซึ่งคาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จในเร็วๆนี้.

แฉฮั้วประมูลรถไฟฟ้าสีแดง

ข่าววันที่ 18 ธันวาคม 2550 แหล่งข่าวจาก สยามรัฐ


แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการรับเหมาก่อสร้างเปิดเผยกับ “สยามรัฐ”ว่า ในการยื่นเอกสารประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน มูลค่างานโยธาจำนวน 8.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งมี 2 บริษัทคือบริษัท ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ส่อเค้าว่าจะมีการฮั้วราคากันเนื่องจากพบว่าทั้งสองบริษัทเป็นนอมินีของบริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน)ยื่นเสนอประกวดราคา โดยบริษัท ยูนิค คอนสตรัคชั่นฯ มีกรรมการประกอบด้วย นายนที พานิชชีวะ, นายสมนึก ชัยเดชสุริยะ, นายประสงค์ สุวิวัฒน์ธนชัย,นางสาวกรภัทร์ สุวิวัฒน์ธนชัย และนางสาวสมใจ ประทุมทอง ปรากฏว่านายสมนึก ได้ไปนั่งเป็นกรรมการในบริษัท น้ำประปาไทยจำกัด (มหาชน) โดยมีนายปลิว ตรีวิศวเวทย์ เป็นผู้มีอำนาจทำการแทนกิจการ และกรรมการ มีนายสมบัติ กิจจาลักษณ์ร่วมเป็นกรรมการด้วย ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่านายปลิว เป็นเจ้าของช.การช่าง “เป็นรู้กันทั่วไปว่าบริษัทน้ำประปาไทย เป็นของกลุ่มช.การช่าง และเมื่อนายสมนึก ชัยเดชสุริยะ นั่งเป็นกรรมการอยู่ด้วยกันทั้งบริษัท น้ำประปาไทยฯ และบริษัท ยูนิค คอนสตรัคชั่นฯ นั่นหมายความว่า บริษัท ยูนิค คอนสตรัคชั่นฯ ส่อเค้าเป็นนอมินีของกลุ่มช.การช่าง” ทางด้านบริษัท ซินเท็ค คอนสตรัคชั่นฯ ก็ส่อเค้าเป็นนอมินีช.การช่างเช่นเดียวกัน มีนายสมชาย ศิริเลิศพานิช กรรมการผู้จัดการ ส่วนกรรมการ ได้แก่ นายทวี กุลเลิศประเสริฐ ,นายไพศาล ตั้งยืนยง กรรมการหลายบริษัทกลุ่มแนเชอรัลฯ ร่วมกับนายเสริมสิน สมะลาภา ที่สำคัญพบว่า นายสมชาย ศิริเลิศพานิช ได้เข้าไปนั่งเป็นกรรมการในบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีซีแอล ผู้ได้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกในเมืองไทยจากหัวลำโพง-บางซื่อ ซึ่งบริษัทดังกล่าวมีนายปลิว ตรีวิศวเวทย์ และนายสมบัติ กิจจาลักษณ์ เป็นผู้มีอำนาจทำการแทนกิจการ
ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้รับเหมาทั้งสองราย ก่อนเปิดให้ยื่นเสนอราคาต่อไป แต่ถ้าหากพบว่า ผู้รับเหมาฮั้วราคากันก็ต้องยกเลิกการประกวดราคา ซึ่งไม่แน่ใจว่ารัฐบาลหน้าจะยังทำโครงการต่อไปหรือไม่ ถ้าหากยกเลิกโครงการจริงผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักคือ นักลงทุนฮ่องกง เพราะมีการวางค่ามัดจำล่วงหน้าเพื่อกว้านซื้อที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าสายสีแดงไว้หมดแล้ว รอเพียงมีการเซ็นสัญญาโครงการก็จะโอนที่ดินแต่ละแปลงทันที โดยการจรจาซื้อที่ดินครั้งมีเกิดขึ้นผ่านนายหน้าที่โรงแรมดังกลางกรุง

สายสีแดงความฝันของคนกรุง ลดปัญหาจุดตัดถนนทั้งหมด

สวัสดีกรุงเทพ 12 December 2007

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบนโยบายและแผนการดำเนินงานโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในส่วนของระบบรถไฟชานเมือง(สายสีแดง) ในระยะแรก 3 ช่วง ประกอบด้วย

1. ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทางประมาณ 15 กม.

2. ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทางประมาณ 26 กม.และ

3. ช่วงบางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก ระยะทางประมาณ 19 กม.

โดยเฉพาะช่วงบางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก ถือว่าเป็นเส้นทางสำคัญที่สุดของสายสีแดง เนื่องจากเป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางทั้ง 4 ทิศ โดยเฉพาะรถไฟชานเมืองด้านทิศเหนือและแยกออกไปสายอีสานเชื่อมต่อกับศูนย์บางซื่อ ซึ่งอนาคตสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร(สนข.)ได้วางแผนไว้ให้เป็นศูนย์กลางคมนาคมของประเทศแห่งใหม่แทนหัวลำโพง ด้านทิศตะวันออกเชื่อมต่อโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ ต่อเชื่อมไปฉะเชิงเทรา ด้านทิศตะวันตกตลิ่งชัน ซึ่งจะขยายต่อไปนครปฐม และด้านทิศใต้ผ่านหัวลำโพง นอกจากนี้ตามแนวสายเส้นทางจะเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าสายสีอื่นๆอีก นายประณต สุริยะ รองผู้อำนวยการสนข. เปิดเผยว่า โครงการสายสีแดงช่วงบางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก เป็นเส้นทางของสายสีแดง ซึ่งประกอบไปด้วย ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันและบางซื่อ-รังสิต โดยเส้นทางช่วงบางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก ถือเป็นช่วงเส้นทางสายสำคัญในการในการเชื่อมโครงข่ายระบบราง โดยจะเชื่อมต่อกับศูนย์บางซื่อ ซึ่งในอนาคตจะเป็นศูนย์กลางคมนาคมระบบรางแทนหัวลำโพง ซึ่งต่อไปจะเป็นเพียงสถานีย่อยหรืออาจจะจัดเป็นพิพิธภัณฑ์การรถไป โดยศูนย์บางซื่อ จะเป็นจุดศูนย์กลางในการเชื่อมต่อในการเดินทางโดยรถไฟไปยังจุดต่างๆ โดยเฉพาะด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบ อย่างไรก็ตามสายสีแดงช่วงบางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก ขณะนี้อยู่ระหว่างบริษัทที่ปรึกษานำเสนอรูปแบบรายละเอียดของการศึกษา ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งจะรองรับการเดินรถไฟ 3 ระบบในโครงการเดียวกัน ได้แก่ ระบบรถไฟทางไกล รถไฟฟ้าชานเมือง และระบบรถไฟฟ้าขนส่งสินค้า ซึ่งเมื่อสรุปรูปแบบที่ชัดเจนแล้ว สนข.จะนำเสนอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ต่อไป คาดว่าผลการศึกษาจะเสร็จประมาณต้นปี 2551 ซึ่งรูปแบบและการลงทุน รฟท.จะเป็นผู้ประเมินเพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณา เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว จึงมาจัดเตรียมเอกสารในการจัดประกวดราคา ซึ่งคาดว่าน่าจะประกวดราคาก่อสร้างได้ประมาณปลายปีหน้า ด้านดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ รองผู้จัดการโครงการ ในการศึกษารูปแบบรายละเอียดโครงการสานสีแดงช่วงบางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก กล่าวถึงรูปแบบสถานีจิตรลดาว่า จากการศึกษาการศึกษาพบว่ารูปแบบที่เหมาะสมที่สุด จะเป็นรูปแบบโครงสร้างทางรถไฟใต้ดิน เนื่องจากสามารถก่อสร้างได้ตามหลักเกณฑ์ทางเทคนิคและวิศวกรรมรถไฟ ประกอบกับสอดคล้องกับมติของคณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองทางด้านเหนือจากบางซื่อขึ้นไป ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งโครงการนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินรถและอนาคตจะมีขยายโครงการไปจนถึงชุมทางบ้านภาชี ต่อเชื่อมจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกไป ทั้งนี้เส้นทางรางที่ทำการศึกษาอยู่นี้ จะลดจุดตัดกับถนนในพื้นที่กทม.ทั้งหมด ส่งผลให้การจราจรที่เคยมีปัญหาตรงนี้หมดไป ก่อให้เกิดการประหยัดพลังงานและระยะเวลาในการเดินทาง ส่วนข้อที่ประชาชนเป็นห่วงที่สุดคือเรื่องการเวนคืนที่ดินนั้น ในเรื่องนี้เราได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้น้อยที่สุด โดยได้มีการจัดประชุมกลุ่มย่อยไปแล้วหลายชุมชนด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่ มีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องเงินชดเชยหรือการจัดสถานที่อยู่อาศัยใหม่ให้อย่างไร ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เมื่อได้รูปแบบที่ชัดเจนแล้ว จะนำเสนอให้รฟท.เป็นผู้พิจารณาต่อไป ซึ่งชุมชนส่วนใหญ่อยู่ในเขตเส้นทางของรฟท. ทำให้เกือบจะไม่มีปัญหาการเวนคืนที่ดิน แต่จะชดเชยอย่างไรนั้นต้องพิจารณาจากความต้องการของประชาชนเป็นสำคัญ สำหรับรายละเอียดของเส้นทางสายสีแดงช่วงบางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดของระบบรถไฟฟ้าสายสีแดง และเป็นช่วงสุดท้ายที่จะทำให้โครงข่ายของรถไฟฟ้าสายสีแดงสมบูรณ์ ประกอบกับเป็นช่วงที่เชื่อมต่อกับศูนย์คมนาคมพหลโยธิน(บางซื่อ) ศูนย์คมนาคมมักกะสัน นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพของระบบขนส่งทางรถไฟ ทั้งด้านการขนส่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า และขจัดปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนนตามแนวเส้นทาง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ แนวเส้นทางจะใช้แนวเส้นทางรถไฟเดิม เริ่มตั้งแต่สถานีบางซื่อ ซึ่งจะเป็นทางยกระดับ ผ่านสถานีสามเสน-ราชวิถีแล้วลดระดับลงสู่ใต้ดินผ่านสถานีจิตรลดาไปขึ้นระดับผิวดินที่สถานีพญาไท ไปจนถึงศูนย์มักกะสัน เป็นช่วงแรก ส่วนช่วงที่ 2 จากต่อจากสถานีจิตรลดา ขึ้นสู่ระดับผิวดินที่สถานียมราช-สถานียศเส(อยู่ช่วงระหว่างสะพานกษัตริย์ศึกกับสถานีหัวลำโพง)ต่อไปจนถึงหัวลำโพง โดยมีมูลค่าการลงทุน 25,137 ล้านบาท ประกอบด้วยงานโยธา อาคาร 14,961.50 ล้านบาท งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 1,738 ล้านบาท ขบวนรถไฟฟ้า 4,980 ล้านบาท ค่าบริหารโครงการ 800 ล้านบาท ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,573 ล้านบาท และเงินสำรอง 1,084 ล้านบาท ทั้งนี้จะได้รับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมูลค่า 4.5 ล้านล้านบาท จากการประหยัดน้ำมัน 1.7 ล้านล้านบาท การประหยัดเวลา 1.5 ล้านล้านบาท ด้านสิ่งแวดล้อม 1.06 ล้านล้านบาท และลดปัญหาการจราจรระหว่างทางรถยนต์กับทางรถไฟ อีก 112 แสนล้านบาท

ยักษ์ใหญ่ก่อสร้างหนีรถไฟฟ้าสีแดง

Dailynews 14/12/2007

นายนคร จันทรศร รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยความคืบหน้าการประมูลงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิตว่า มีเอกชน 2 รายยื่นซองประมูลรถไฟฟ้าคือ บริษัท ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด และบริษัท ยูนิคเอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด จากที่ซื้อซองประมูลไปทั้งหมด 10 ราย โดยไม่มีบริษัทก่อสร้างรายใหญ่ของไทยเข้าร่วมประมูล เนื่องจากมีบริษัทบางรายได้แจ้งว่าไม่สามารถรับเงื่อนไขทีโออาร์กรณีที่ให้ผู้รับเหมาก่อสร้างดำเนินการเวนคืนที่ดินกับผู้ที่บุกรุกเขตทางได้ เพราะไม่มีความถนัด และมีเอกชนบางแห่งแจ้งให้ทราบว่ามีปัญหาในเรื่องการขอกู้เงินจึงไม่ได้เข้าร่วมประมูลครั้งนี้ ทั้งนี้คณะกรรมการใช้เวลาตรวจสอบคุณสมบัติและเงื่อนไขทางด้านเทคนิคของทั้ง 2 บริษัทภายใน 30 วัน หากไม่ผ่านเกณฑ์ที่ รฟท. กำหนดจะต้องยกเลิกประมูลและเปิดประมูลใหม่ แต่ถ้าบริษัทรายใดรายหนึ่งผ่านเกณฑ์ที่ได้ระบุไว้รฟท.ต้องดำเนินการตามขั้นตอนด้านอีอ๊อคชั่น สำหรับบริษัทที่ไม่ได้ยื่นซองประมูล คือ อิตาเลียนไทยดิเวลอปเมนท์ จำกัด บริษัท ชิโนไทย เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น บริษัท ช.การช่าง บริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอ็นจิเนียริ่ง (1964) บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ บริษัท รวมนครก่อสร้าง (ประเทศไทย) และบริษัท รัสเซียน-อีเอ็มซีเทค คอปอเรชั่นจอยท์เวนเจอร์ “หากการยื่นประมูลครั้งนี้บริษัทเอกชนผ่านคุณสมบัติทุกอย่างต้องมาเปิดประมูล หากใครเป็นผู้ชนะการประมูลรฟท.จะเซ็นสัญญาให้เริ่มเซ็นสัญญาได้ในเดือน เม.ย. 51 และเริ่มงานก่อสร้างได้ในเดือน พ.ค. 51” แหล่งข่าวจากผู้รับเหมารายหนึ่ง กล่าว สาเหตุที่ไม่เข้าร่วมประมูลครั้งนี้เพราะเกรงว่าจะมีความล่าช้าเรื่องการเวนที่คืนจากประชาชนที่อยู่แนวก่อสร้างรถไฟฟ้า ซึ่งพบว่ามีมากถึง 3,000 ครอบครัว และระยะเวลาก่อสร้าง 1,100 วัน ซึ่งรวมกับระยะเวลาการไล่ผู้บุกรุก 200 วันนั้นน้อยเกินไป และอาจจะทำให้การก่อสร้างโครงการไม่เสร็จตามสัญญาที่กำหนด นอกจากนี้บริษัทฯได้จดทะเบียนตั้งบริษัทเพื่อรับเหมาก่อสร้างไม่ใช่ทำหน้าที่เข้ามาไล่ชุมชนจากพื้นที่ก่อสร้าง สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงเป็นระบบรถไฟฟ้าชานเมืองที่มีระยะทางรวม 15 กม. ประกอบด้วย 3 สถานี คือ สถานีบางซ่อน สถานีบางบำหรุ และสถานีตลิ่งชัน โดยกำหนดราคากลางไว้ที่ 8,748.4 ล้านบาท คาดว่ารองรับผู้โดยสารไม่น้อยกว่า 35,000 คนต่อวัน.

คาดรับเหมาเมินประมูลสายสีแดงTORบีบรื้อชุมชน

ไทยโพสต์ 11 ธันวาคม 2550 กองบรรณาธิการ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 13 ธ.ค.นี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะเปิดให้เอกชนยื่นซองประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยก่อนหน้านี้มีเอกชนซื้อซองประกวดราคาไปจำนวน 10 ราย นายประเสริฐ อัตตนันท์ วิศวกรใหญ่ ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง ร.ฟ.ท. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2550 ร.ฟ.ท.ได้ทำหนังสือแจ้งยืนยันไปยังผู้รับเหมาที่เข้าซื้อเอกสารการประมูลโครงการว่าจะไม่มีการแก้ไขร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) ที่กำหนดให้ผู้รับเหมาต้องรับผิดชอบการรื้อย้ายชุมชนในพื้นที่ก่อสร้างด้วย ส่วนกรณีผู้รับเหมาต้องการให้ ร.ฟ.ท.ทำสัญญาว่า หากการรื้อย้ายไม่สำเร็จตามกำหนดจนส่งผลให้งานก่อสร้างล่าช้า ร.ฟ.ท.ต้องขยายเวลาให้ผู้รับเหมาและไม่เรียกค่าปรับนั้น คงต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป
นายประเสริฐยอมรับว่า จากเงื่อนไขใน TOR ที่กำหนดให้เอกชนต้องรื้อย้ายชุมชน รวมถึงงานก่อสร้างสายสีแดงซึ่งเป็นงานที่ยุ่งยาก โดยเฉพาะด้านเทคนิคการก่อสร้าง ดังนั้น อาจจะมีผู้รับเหมายื่นเอกสารประกวดราคาเพียง 4-5 รายเท่านั้น จากที่ซื้อเอกสารไป 10 ราย
นายพัฒนพงศ์ ตนุมัธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอสคอน คอนสตรัคชั่น (ASCON) หนึ่งในผู้รับเหมาที่เข้าซื้อเอกสารการประมูล กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงว่าบริษัทจะไม่ยื่นเอกสารประกวดราคาในวันที่ 13 ธ.ค.นี้ เนื่องจากเห็นว่าการให้เอกชนรับผิดชอบงานรื้อย้ายชุมชนอยู่มีความเสี่ยงสูงมากในการลงทุน และที่สำคัญคือ ปัญหาเงินชดเชยที่ตาม TOR ระบุว่า ร.ฟ.ท.ให้ในส่วนการเวนคืนพื้นที่ไว้ 230 ล้านบาท และกำหนดให้เอกชนทำงานดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายใน 200 วันนั้นน้อยเกินไป.

เตรียมรื้อบ้านเรือน7ชุมชนกว่า300หลัง สร้างรถสายสีแดงบางซื่อ-มักกะสัน

Dailynews 26/11/2007

นายประณต สุริยะ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สนข.อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน หรือสาย Missing Link ระยะทาง 14.5 กิโลเมตร มีทั้งหมด 5 สถานี คือ


1. สถานียศเส

2. สถานียมราช

3. สถานีพญาไท

4. สถานีราชวิถี (สถานีร่วม)

5. สถานีสามเสน

ใช้งบออกแบบ 130 ล้านบาท จะแล้วเสร็จต้นเดือนมีนาคม 2551 เพื่อรองรับการเดินทางของรถไฟฟ้าสายเหนือและสายตะวัน ออก อีกทั้งยังเป็นการเชื่อมโยงของ 2 สนามบิน คือ สนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ หลังจากที่ออกแบบเสร็จแล้ว จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติก่อสร้างต่อไป คาดว่าประมาณเดือน ก.ย. 2551 โดยก่อนที่จะเสนอ ครม.จะต้องทำผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ผ่านก่อน ซึ่งจะทำควบคู่ไปกับการออกแบบรายละเอียดเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี

นายประณต กล่าวต่อว่า สำหรับค่าก่อสร้างในเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 28,000 ล้านบาท เป็นงานโยธา 25,000 ล้านบาท และระบบรถไฟฟ้าอีก 3,000 ล้านบาท

ด้านรูปแบบของโครงการ เนื่องจากเส้นทางจะผ่านสถานที่สำคัญ เช่น ผ่านหน้าสวนจิตรลดา ดังนั้นการออกแบบโครงสร้างจะเป็นลักษณะคล้ายอุโมงค์ ส่วนสถานีจะมีความทันสมัย ปลอดภัยและมีรูปลักษณ์ที่สวยงาม ไม่บดบังอาคารสถานที่ใกล้เคียง การเวนคืนที่ดินจะไม่มี เพราะใช้เขตทางรถไฟ จะเป็นการรื้อย้ายชุมชนที่อยู่ตามเขตทางรถไฟ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 7 ชุมชน คือ

1. ชุมชนโค้งรถไฟยมราช

2. ชุมชนหลังกรมทางหลวง

3. ชุมชนซอยแดงบุหงา

4. ชุมชนสระแก้ว

5. ชุมชนหลังบ้านมนังคศิลา

6. ชุมชนริมทางรถไฟสายแปดริ้ว

7. ชุมชนคลองส้มป่อย

จะมีอยู่ประมาณ 300 กว่าหลังคาเรือน โดยยังไม่ได้กำหนดงบประมาณในการเวนคืน.

รถไฟฟ้าบางซื่อ-รังสิตใช้โฮปเวลล์เดิม โครงสร้างผ่านการทดสอบแข็งแรงใช้ได้หลายสิบปี

Dailynews 27/10/2007

รายงานข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) แจ้งว่า จากที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ซึ่งขณะนี้ สนข.อยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาปรับปรุงแบบรายละเอียดให้เหมาะสมนั้น ยืนยันว่าในแนวเส้นทางรถไฟสายเหนือ จะใช้โครงสร้างเสาตอม่อโฮปเวลล์เดิม ซึ่งการออกแบบอยู่ในระดับความสูงเดียวกัน จะมีการทุบทิ้งน้อยมากเฉพาะในจุดที่เป็นปัญหาในการก่อสร้างเท่านั้น ทั้งนี้โครงสร้างเสาตอม่อโฮปเวลล์ดังกล่าว ได้ผ่านการทดสอบความแข็งแรงของสถาบันเอไอทีและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตรงกัน ว่ามีความแข็งแรงและสามารถใช้งานได้อีก ไม่ต่ำกว่า 50 ปี โดยหากนำโครงสร้างเดิมมา ใช้ทั้ง 500 ต้นจะช่วยประหยัดงบประมาณได้กว่า 1,000 ล้านบาท ไม่ต้องทุบทิ้งเหมือน การก่อสร้างสายแอร์พอร์ตลิงค์ พญาไท-มักกะสัน-สุวรรณภูมิ ที่ต้องทุบเสาตอม่อไปประมาณ 30 ต้น เนื่องจาก รฟท.ได้ให้บริษัทที่ปรึกษาออกแบบใหม่หมด โดยไม่ได้คำนึงถึงโครงสร้างเดิมที่มีอยู่ เนื่องจากเสาตอม่อมีอยู่เพียงช่วงสั้น ๆ ย่านในเมืองเท่านั้น หากการออกแบบใหม่โดยคำนึงถึงโครงสร้างเดิมจะทำให้ยุ่งยากมากกว่า


สำหรับการออกแบบรายละเอียด คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.นี้ ทัน กำหนดของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่คาดว่าจะเปิดประมูลได้ประมาณต้นปี 2551 เปิดใช้ในปี 2554 เป็นทางรถไฟยกระดับ มีทั้งรถไฟดีเซลทางไกลและรถไฟฟ้า มีทั้งหมด 8 สถานี โดยในแบบรายละเอียดจะมีสถานีวัดเสมียนนารี และสถานีหลักหกรวมอยู่ด้วย หากว่าจะทำการก่อสร้างในเฟสถัดไป ก็จะไม่ยุ่งยากเพราะมีแบบเตรียมไว้แล้ว.

ผวา"รื้อ-ย้าย"3พันหลังบางซื่อถึงตลิ่งชัน รับเหมาล็อบบี้แก้TOR"รถไฟฟ้าสีแดง"

Prachachat Thurakij - 18-20 October 2007

รับเหมาผวาเดดล็อกทีโออาร์รถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน 8.4 พันล้านบาท ล็อบบี้ ร.ฟ.ท. แก้เงื่อนไขรื้อย้าย 3 พันครอบครัว บิ๊ก อิตาเลียนไทย-ช.การช่าง-ซิโนไทย-เนาวรัตน์พัฒนาการ ขู่ถอนตัว ดาวรุ่ง "แอสคอน" ผนึก Strabab เยอรมนี-กำแพงเพชรวิวัฒน์สู้ไม่ถอย


แหล่งข่าวจากวงการรับเหมาก่อสร้างเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดให้ผู้รับเหมาซื้อเอกสารประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กิโลเมตร วงเงิน 8,478 ล้านบาท ตั้งแต่ 3-12 ตุลาคม 2550 ที่ผ่านมา มีผู้รับเหมาซื้อเอกสาร 10 ราย ส่วนใหญ่เป็นรายใหญ่และรายกลางนั้น ขณะนี้แต่ละรายเริ่มศึกษาเงื่อนไขการประมูลอย่างละเอียด และเปิดตัวพันธมิตรแล้ว

โดยต่างสนใจแต่มองว่าเงื่อนไขการรื้อย้ายชุมชนซึ่งบุกรุกที่ดินริมทางรถไฟ มีความเสี่ยงทั้งเวลาดำเนินการและค่าใช้จ่าย เกรงว่าจะมีปัญหาซ้ำรอยโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ จึงต้องการให้แก้เงื่อนไข หากไม่แก้อาจบางส่วนอาจไม่ยื่นประมูล

ผู้รับเหมาที่ซื้อซอง 10 ราย มี

1.บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์

2.บมจ.ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น

3.บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น

4.บมจ.ช.การช่าง

5.กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (มหาชน) จำกัด และ Chun Wo Construction & Engineering Co.,Ltd

6.บมจ.แอสคอน คอนสตรัคชั่น

7.บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ

8.บริษัท รวมนครก่อสร้าง (ประเทศไทย) จำกัด

9.บริษัท เอ.เอส.แอสโซ ซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด

10.กลุ่มร่วมค้า RUSSIANEMC TECH COOPERATION

นายไผท ชาครบัณฑิต รองประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ยังไม่สรุปว่าจะยื่นประมูลหรือไม่ ต้องดูรายละเอียดว่าจะแก้ไขอย่างไรได้บ้าง โดยเฉพาะเงื่อนไขที่ให้ผู้รับเหมารื้อย้ายชุมชนเอง
นายพัฒนพงษ์ ตนุมัธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จะยื่นซองราคาแน่นอน แต่กำลังศึกษารายละเอียดทีโออาร์ เนื่องจากต้องพิจารณาให้ละเอียดเกี่ยวกับการรื้อย้ายชุมชนซึ่งมีความเสี่ยง เป็นต้นทุนที่ควบ คุมได้ค่อนข้างลำบาก
"เราหนักใจเรื่องนี้ไม่แพ้ผู้รับเหมารายอื่น แต่ยังพอมีเวลาคิด เพราะการรถไฟฯให้เวลา 2 เดือน ถ้าจะเข้าประมูลจะยื่นประมูลร่วมกับ Strabab จากเยอรมนี และบริษัทกำแพงเพชรวิวัฒน์"
ด้านแหล่งข่าวจากบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ถ้าไม่เปลี่ยนเงื่อนไขที่จะให้ผู้รับเหมาเป็นผู้รื้อย้ายชุมชน จะสร้างความลำบากให้กับผู้รับเหมา เนื่องจากไม่มีอำนาจขับไล่ชุมชน และไม่รู้ว่าจะประเมินเวลาในการรื้อย้ายอย่างไร จะทำได้ตามเวลาหรือไม่ ค่ารื้อย้ายจะเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในทีโออาร์หรือไม่
"19 ตุลาคมนี้ การรถไฟฯจะเปิดให้ผู้รับเหมาที่ซื้อเอกสารมารับฟังการชี้แจง บริษัทจะซักถามประเด็นนี้ และขอให้ทบทวนอีกครั้ง โดยให้การรถไฟฯรื้อย้ายเอง เพราะมีอำนาจตาม พ.ร.บ.การรถไฟฯอยู่แล้ว แต่ถ้ายังคงเงื่อนไขเดิมคงต้องประเมินดูใหม่ว่าจะยื่นหรือไม่ยื่นซองประมูล"
ด้านนายปสันน สวัสดิ์บุรี รองกรรมการผู้จัด การอาวุโส ฝ่ายธุรกิจใหม่และวางแผนกลยุทธ์ บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ต้องศึกษารายละเอียดทีโออาร์ให้ชัดเจนก่อน ที่ต้องพิจารณา หลักๆ คือการรื้อย้ายชุมชนตามริมทางรถไฟที่มีอยู่ถึง 3,000 กว่าครัวเรือน โดยรัฐน่าจะรับผิดชอบการรื้อย้าย เพราะเอกชนไม่มีอำนาจ ค่าใช้จ่ายก็ควบคุมไม่ได้ 200 กว่าล้านอาจไม่พอ
แหล่งข่าวจากบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กลˆาวว่า จะสอบถามเรื่องการรื้อย้ายชุมชน ว่าการรถไฟฯจะมีทางออกอย่างไร หากไม่มีทางเลือกบริษัทคงไม่ยื่นซองประมูล
นายนคร จันทรศร รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การรถไฟฯจะให้ผู้รับเหมามารับฟังคำชี้แจงและดูสถานที่ก่อสร้างในวันที่ 19 ตุลาคมนี้ จากนั้นจะให้เวลา 60 วัน ทำรายละเอียดราคา และยื่นซองราคาในวันที่ 13 ธันวาคมนี้และเปิดซองราคาในวันเดียวกัน ส่วนการเซ็นสัญญาก่อสร้างคาดว่าจะประมาณเดือนเมษายน เริ่มก่อสร้างพฤษภาคม 2551 กำหนดแล้วเสร็จมิถุนายน 2554
"เรายังยืนยันให้ผู้รับเหมาเป็นคนรื้อย้ายเอง ที่ผ่านมาเอกชนทำหนังสือสอบถามเรื่องนี้มาเยอะ และขอให้ทบทวน แต่เราทบทวนหลายครั้งแล้ว จึงออกมาเป็นแบบนี้ โดยค่ารื้อย้ายรวมอยู่ในงานรื้อแล้ว เพราะเอกชนจะมีความคล่องตัวกว่า ทั้งการจ่ายเงินค่าชดเชย ไม่ต้องขออนุมัติเหมือนกับที่เราทำเอง กว่าจะเบิกเงินได้ใช้เวลานาน แต่เราจะช่วยดูด้านข้อกฎหมาย และเรื่องมวลชนสัมพันธ์ให้" นายนครกล่าว

รับเหมาแห่ซื้อซองประมูลสายสีแดง อิตัลไทย-ช.การช่าง-ซิโน-ไทยไม่พลาด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2262 18 ต.ค. - 20 ต.ค. 2550


รับเหมาไทย-เทศ 10 ราย ร่วมแห่ชิงดำสายสีแดง บาซื่อ-ติ่งชัน ค่า 8,748 ล้านบาท อิตัลไทย-ช.การช่าง ไม่ทิ้งานยักษ์ ด้านซิโน-ไทย ยังไม่เข็ดร่วมชิงด้วย ขณะที่รายเล็กก็ร่วมประมูลหลายราย เตรียมตอบข้อสงสัย-ชี้จุดก่อสร้างจริง 19 ต.ค.นี้ จากนั้นจะให้เข้ายื่นเอกสารประกวดราคา 13 ธ.ค.50 คาดรู้ผลประมูลพร้อมลงนามจ้าก่อสร้าง เม.ย.51 นายประเสริฐ อัตตะนันท์ วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากที่การรถไฟฯ ได้เปิดขายเอกสารประกวดราคาโครงการระบบรถไฟชานเมือง สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กิโลเมตร ราคากลาง 8,748 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 3-12 ตุลาคมที่ผ่านมา ปรากฎว่า มีผู้รับเหมาให้ความสนใจเข้าร่วมซื้อเอกสารประกวดราคา รวมทั้งสิ้น 10 ราย

ทั้งนี้ในจำนวน 10 รายที่เข้าร่วมซื้อซอง มีบริษัทรับเหมารายใหญ่ร่วมซื้อเอกสารประกวดราคาด้วย ได้แก่

1. บริษัท อิตาเลียนไทย ดิเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ไอทีดี,

2. บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และ

3. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)

นอกจากนั้นยังมี

4. กลุ่มกิจการร่วมค้า Unique-Chun Wo Joint Venture ซึ่งประกอบด้วย บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท Chun Wo Construction & Engineering Co.,Ltd

5. บริษัท สยามซินเท็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน),

6. บริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน),

7. บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน),

8. บริษัท รวมนครก่อสร้าง (ประเทศไทย) จำกัด

9. บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด และ

10. ยังมีบริษัท RUSSIAN-EMC TECH COOPREATION,joint Venture ด้วย

วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง กล่าวต่ออีกว่า จากจำนวนผู้รับเหมาที่เข้ามาร่วมซื้อเอกสารประกวดราคา ที่มีทั้งสิ้น 10 รายนั้น ถือว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งมากกว่าที่คาดไว้ เพราะมีโจทย์ที่ยากอยู่คือการให้ผู้รับเหมารื้อย้ายชุมชนในแนวเขตทาง ซึ่งในส่วนนี้ก็มีผู้รับเหมาที่ยังมีข้อข้องใจอยู่ แต่ก็จะชี้แจงให้เข้าใจได้ ในขณะเดียวกันการรถไฟฯ ก็จะตั้งคณะกรมการขึ้นมาหนึ่งชุด เพื่อเตรียมหามาตรการในการให้การช่วยเหลือในเรื่องของการรื้อย้ายชุมชน เพื่อทำงานประสานกับผู้รับเหมาที่ชนะการประมูลด้วย อย่างไรก็ดีหลังจากนี้แล้ว การรถไฟฯ จะเปิดชี้แจงรายละเอียด และตอบคำถามผู้รับเหมาที่ร่วมซื้อเอกสารประกวดราคา พร้อมทั้งกำหนดสถานที่ก่อสร้างภาคสนาม ในวันที่ 19 ตุลาคมนี้ จากนั้นจะให้เวลาผู้รับเหมาจัดทำเอกสารประกวดราคา เพื่อให้นำมายื่นต่อคณะกรรมการประกวดราคาโครงการระบบรถไฟชานเมือง สายสีแดง ในวันที่ 13 ธันวาคม 2550 ซึ่งจะพิจารณาคุณสมบัติผู้ยื่นเอกสารในวันเดียวกัน จากนั้นจะใช้เวลาในการพิจารณาข้อเสนอทางด้านเทคนิค แห่ล่งเงินและอื่นๆ อีกประมาณ 2 เดือน แล้วจึงจะเข้าสู่ขบวนการเคาะราคา ตามระเบียบการประมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีออคชั่น เมื่อได้รายชื่อผู้ที่เสนอราคาต่ำสุดแล้วก็จะใช้เวลา คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างได้ประมาณเดือนเมษายน 2551 จากนั้นจะเริ่มก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม 2551 โดยจะใช้เวลาก่อสร้าง 1,100 วัน แล้วเสร็จประมาณเดือนมิถุนายน 2554

เอกชน 10 ราย ยื่นซองประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีแดง

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 12 ตุลาคม 2550 19:36 น

นายนคร จันทรศร รองผู้ว่าการด้านบริหารโครงการระบบรถไฟฟ้า การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. กล่าวว่า หลังจาก รฟท. เปิดจำหน่ายซองเอกสารประกวดราคาโครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน ตั้งแต่วันที่ 3 - 12 ตุลาคมที่ผ่านมา มีบริษัทเอกชนให้ความสนใจซื้อซองเอกสารจำนวนทั้งสิ้น 10 ราย ประกอบด้วย

1.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ITD

2. บริษัท ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) SYNTECH

3.บริษัท ชิโน-ไทยเอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) STECON

4.บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) CKC

5.บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (มหาชน) จำกัด UNIQUE

6.บริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ASCON

7.บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) Navarat

8. บริษัท รวมนครก่อสร้าง (ประเทศไทย) จำกัด RUAM NAKHON

9.บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด และ AS Associate

10.RUSSIAN – EMC TECH COOPERATION, Joint Venture
ทั้งนี้ โครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน มีจำนวนสถานีทั้งหมด 3 สถานีได้แก่สถานี บางซ่อน บางบำหรุ และ ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กิโลเมตร
รฟท. คาดการว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ในหลายๆด้าน เช่น สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการเดินรถไฟทางไกลสายใต้ผ่านสะพานพระราม 6 ซึ่งขณะนี้ อยู่ในสภาพชำรุดมาก โดยรองรับการเดินรถที่มี อยู่ในปัจจุบันจำนวนวันละ 46 ขบวน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดระยะเวลาการรอหลีก และการจราจรที่ติดขัดบริเวณทางรถไฟตัดกับถนนจำนวน 7 จุด สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการเดินรถระบบรถไฟชานเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเดินรถระบบรถไฟฟ้าสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารจากตลิ่งชันสู่ บางซื่อที่คาดว่าจะมีไม่น้อยกว่า 35,000 คนต่อวัน ในปีที่เปิดดำเนินการ และเมื่อขยายโครงการไปถึงจังหวัดนครปฐมจะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารที่คาด ว่าจะมีประมาณ 65,000 คนต่อวัน

ต่อสายสีแดงไปมธ.รังสิต

Thairath [5 ต.ค. 50 - 04:03]

รายงานข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) แจ้งว่า ขณะนี้ บริษัทที่ปรึกษาโครงการปรับแบบรายละเอียดรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กม. รวมสถานีกลางบางซื่อ ได้ออกแบบรายละเอียดโครงการเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีการออกแบบสถานีไว้ 9 สถานี ประกอบด้วย


1. สถานีรังสิต

2. สถานีดอนเมือง (ตรงตลาดดอนเมือง)

3. สถานีการเคหะ (กม. 19)

4. สถานี หลักสี่ (ที่เดิม)

5. สถานีทุ่งสองห้อง (ปากทาง North Park)

6. สถานีบางเขน (หน้า ม. เกษตรฝั่งวิภาวดี)

7. วัดเสมียนนารี (ประชานิเวศน์ 1 ฝั่งวิภาวดี)

8. จตุจักร (กม. 11)

9. บางซื่อ

นอกจากนี้ ที่ปรึกษายังมีข้อเสนอเพิ่มเติมเห็นควรให้มีการขยายเส้นทางการก่อสร้างเพิ่มจากสถานีรังสิตไปถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 10 กม. โดยจะมีสถานีเพิ่มขึ้นอีก 3 สถานี เพิ่มวงเงินค่าก่อสร้างโครงการอีกประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางจากย่านชานเมืองเข้าสู่ใจกลางเมืองได้ดียิ่งขึ้น โดยในวันที่ 5 ต.ค. 2550 สนข.มีกำหนดจัดสัมมนารับฟังความเห็นโครงการ และเชิญผู้มีส่วนได้เสียในโครงการ ทั้งประชาชนในแนวสายทางหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมแสดงความเห็นประมาณ 100 คน ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ถนนวิภาวดีรังสิต
รายงานข่าวแจ้งต่อว่า หลังจากนี้จะนำข้อเสนอจากที่สัมมนามาพิจารณาปรับแก้รายละเอียดตามความเหมาะสมอีกครั้ง โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะนำเข้าเสนอบอร์ดอนุมัติโครงการภายในสัปดาห์หน้า ก่อนส่งเรื่องให้กระทรวงคมนาคมพิจารณานำเรื่องทั้งหมดเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติให้ รฟท.ดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าวในวันที่ 16 ต.ค. เพื่อให้สามารถเดินหน้าประกาศประกวดราคาและเร่งก่อสร้างให้แล้วเสร็จได้พร้อมๆ กับช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จะเชื่อมโยงการเดินทางได้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น.